Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ถนอมดวงตาลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-03-2023 11:09

ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงทารกกับโลกรอบ ๆ ตัว ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก และนำไปสู่การพัฒนาทางด้านกายภาพอื่น ๆ ทั้งการนั่ง คว่ำ คลาน หรือการเดิน

ภาพประกอบเคส

ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงทารกกับโลกรอบ ๆ ตัว ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก และนำไปสู่การพัฒนาทางด้านกายภาพอื่น ๆ ทั้งการนั่ง คว่ำ คลาน หรือการเดิน

เด็กที่มีปัญหาในการมองเห็น จะส่งผลให้การเรียนรู้ถูกจำกัด พัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร และจะเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต เช่น ขาดความมั่นใจ เป็นเด็กที่มีปมด้อย และมีปัญหาได้

สาเหตุที่ทำให้ภาพที่เข้าสู่จอตาไม่คมชัด
พัฒนาการของระบบการมองเห็นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้นั้น ส่วนประกอบของดวงตาจะต้องสมบูรณ์ทั้งรูปร่างและการทำงาน และจอตาของทารกต้องถูกกระตุ้นด้วยภาพที่คมชัด โดยสาเหตุที่ทำให้ภาพที่เข้าสู่จอตาไม่คมชัด ได้แก่

  • ทารกที่มีภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมาก)
  • มีภาวะหนังตาตก
  • ต้อกระจกในทารก หรือแม้แต่กระจกตา (ตาดำ) เป็นฝ้าขาว ซึ่งเป็นผลจากโรคเยื่อตาอักเสบจากการติดเชื้อหนองใน หรือกระจกตาติดเชื้อ จะทำให้พัฒนาการของระบบการมองเห็นเกิดขึ้นได้ไม่ดี

ทารกที่มีปัญหาดังกล่าว อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ขณะอยู่ในครรภ์ มารดามีความเสี่ยงเหล่านี้

  • การติดเชื้อในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เชื้อแบคทีเรียซิฟิลิส หรือ เชื้อปรสิต
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีความพิการทางตาได้หลายอย่าง เช่น ตาห่าง หนังตาตก ตาเหล่ สายตาสั้น ขั้วประสาทตาผิดปกติ นอกจากนี้ทารกอาจมีความพิการของใบหน้า น้ำหนักตัวน้อย เจริญเติบโตช้าหรือมีพัฒนาการผิดปกติ
  • การรับประทานยาบางชนิด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์
  • โรคตาที่เกิดจากพันธุกรรม บางโรคอาจสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

วิธีป้องกัน
1. สตรีวัยเจริญพันธุ์ต้องรู้จักป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2. เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และรับการรักษาถ้ามีการติดเชื้อ
3. ทารกเมื่อแรกคลอด ควรได้รับการหยอดตาทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคเยื่อตาอักเสบ (ในกรณีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์และพยาบาลผู้ทำคลอด)
4. มารดา-บิดาของทารก ควรสังเกตอาการผิดปกติที่กล่าวไว้ข้างต้น และหากพบว่าเข้าข่ายก็ควรพาทารกมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา

ความเชื่อผิด ๆ ที่ผู้ปกครองมักจะทำ และส่งผลต่อทารก

  • การถ่ายภาพโดยเปิดแฟลช ถ้าตาของทารกสัมผัสแสงแฟลชในระยะเวลาสั้น จะมีผลเสียน้อย นอกเสียจากว่าจะเปิดแฟลชถ่ายภาพในระยะใกล้กับตาทารกมากและถ่ายบ่อย ๆ จะทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก จุดรับภาพชัดเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
  • ถ้าการถ่ายภาพโดยเปิดแฟลชในระยะห่างจากตาทารกพอสมควรและไม่บ่อยมาก ก็จะไม่มีอันตรายต่อตาทารก)
  • หยอดตาทารกด้วยน้ำนมแม่ ในชนบทเชื่อว่าน้ำนมแม่มีความบริสุทธิ์ สามารถรักษาโรคตาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำนมแม่ถือเป็นแหล่งอาหารที่ดีของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านำไปหยอดตาทารกที่เป็นโรคตาแดงติดเชื้อหรือกระจกตาเป็นแผลติดเชื้อ จะยิ่งทำให้โรครุนแรงมากยิ่งขึ้น กระจกตา (ตาดำ) จะขุ่นขาวมากขึ้น และส่งผลต่อการมองเห็นในที่สุด

ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบความผิดปกติของตาทารก ควรนำทารกมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นของทารก

สัญญาณอันตราย ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อย

  • มีน้ำตาไหลเอ่อตลอด
  • มีขี้ตามาก ขี้ตาสีเหลือง หรือสีเขียวคล้ายหนอง (ในกรณีการติดเชื้อหนองใน จะเริ่มแสดงอาการในวันที่ 2-5 หลังคลอด และพบการติดเชื้อได้น้อยมากถ้าหลังคลอดเกิน 10 วัน ส่วนการติดเชื้อหนองในเทียมอาการจะเกิดขึ้นช้ากว่าประมาณ 5-14 วันหลังคลอด)
  • เปลือกตาและเยื่อบุตาบวมแดง หรือมีการติดเชื้อของตาบ่อย ๆ
  • แก้วตา หรือเลนส์ตาขุ่นขาว
  • หนังตาบวม หรือขนาดลูกตาดูใหญ่/เล็กผิดปกติ
  • รูม่านตาไม่เท่ากัน
  • สีของม่านตาผิดปกติ
  • หนังตาตก
  • ตาเหล่ ตาเข
  • ชอบเอียงหรือหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง

ภัยร้ายคุกคามดวงตาน้อย ๆ ของทารกที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ คือ “โรคเยื่อตาอักเสบในทารก” เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในช่วงหนึ่งเดือนแรกของชีวิต และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอดในทารกแรกเกิด ทารกไม่สามารถสื่อสารหรือพูดคุยได้เหมือนผู้ใหญ่ ความผิดปกติทางตาของทารก จึงต้องสังเกตจากการเลี้ยงดู

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญต่อสุขภาพตาและการมองเห็นของทารกมากยิ่งขึ้น และเมื่อสงสัยว่าทารกอาจมีการติดเชื้อโรคเยื่อตาอักเสบ ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษา โดยการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันอาการตาบอดและการกระจายของเชื้อไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://bit.ly/3JgJ992


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท