Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เป็นเด็กก็เครียดได้ อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูกน้อย


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: สุขภาพใจ

08-03-2023 10:34

ความเครียดเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ หรือชั่วคราว เด็กสามารถใช้ทักษะหรือความสามารถในการแก้ไขหรือจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่รอบข้าง จนก้าวข้ามปัญหาหรือความเครียดนี้ไปได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความอดทน การปรับตัว การใช้สติในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพประกอบเคส

ความเครียดเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ หรือชั่วคราว เด็กสามารถใช้ทักษะหรือความสามารถในการแก้ไขหรือจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่รอบข้าง จนก้าวข้ามปัญหาหรือความเครียดนี้ไปได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความอดทน การปรับตัว การใช้สติในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่หากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง รุนแรงและไม่มีผู้ใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือ ก็จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้และความจำ โรคทางกาย โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ของเด็กตามมาในอนาคตได้ อาการอย่างไรที่บอกว่าลูกกำลังเครียด

ความเครียดล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ ผ่านทางพฤติกรรมและอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาการที่พ่อแม่สามารถสังเกตได้ก็คือ

ในเด็กวัยก่อนเรียน เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ลูกยังเป็นวัยทารก หากลูกหิว ผ้าอ้อมแฉะ อยากให้อุ้ม หรืออยู่ในภาวะที่รู้สึกไม่สบาย และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือตอบสนองอย่างเหมาะสม

  • มีอาการต่างๆ เช่น อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ติดแม่มากขึ้น เจ็บป่วยบ่อยๆ ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน นอนหลับยาก ตื่นกลางดึก ฝันร้าย นอนละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน
  • มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้ว ดึงผม กัดเล็บ
  • มีคำพูดแง่ลบ เช่น ไม่มีใครรัก หนูทำไม่ได้

ในเด็กวัยเรียน มักจะเกี่ยวกับการเรียน การแข่งขันที่สูงขึ้น การใช้ชีวิตในโรงเรียน รวมถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุขและเครียด - เด็กวันนี้จะสามารถเล่าถึงความเครียดที่มีให้พ่อแม่ได้รับรู้มากขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจทางภาษาและสามารถแสดงออกทางความคิดความรู้สึกที่หลากหลายตามวัยหรืออุปนิสัยของเด็กแต่ละคน เช่น เริ่มโกหก เกเร ดื้อ - การเรียนแย่ลงไม่ยอมไปโรงเรียน หรืออาจแยกตัวไปอยู่ตามลำพัง - มีปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อน ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น - อาจมีอาการซึมเศร้า พูดน้อยลง เงียบขรึมผิดปกติ

อาการต่างๆ เหล่านี้จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความรุนแรงของสถานการณ์ที่มากระตุ้น วิธีการปรับตัวของเด็ก และการมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก
เมื่อเกิดความเครียดขึ้น เด็กอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากความเครียดนั้นได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหาทางป้องกันและวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดให้แก่เด็กๆ ดังนี้

  1. การยอมรับในความสามารถของเด็ก พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่เขายังไม่พร้อม หรือกดดันลูกจนเกินไปโดยเฉพาะเรื่องการเรียน เด็กแต่ละคนมีความสามารถ มีสิ่งที่ชอบ และความถนัดที่แตกต่างกัน ให้ลูกได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสนใจเป็นพิเศษ ก็จะทำให้เขาเกิดความกระตือรือร้น มีความเข้าใจ และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. พูดคุยสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกในทางบวก เช่น การชมเชย และการให้กำลังใจลูก พร้อมรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วยความห่วงใยและเข้าใจ ทำให้รู้ปัญหาหรือมีเรื่องกังวลใจของลูก แล้วช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหา
  3. ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ใช้เวลากับลูกของคุณด้วยการทำกิจกรรมที่คุณและลูกชอบร่วมกัน เช่น เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ฯลฯ นอกจากช่วยสร้างความเพลิดเพลินและทำให้เด็กๆ มีความสุขจนลืมเรื่องเครียดๆ ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวได้อีกด้วย
  4. เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ นอกจากการเรียน ควรให้ลูกได้เรียนรู้ปรับตัวด้านสังคมควบคู่กันไป เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่แปลกใหม่ เพื่อให้เขาได้ปรับตัวเข้ากับสังคมและรู้จักกับความผิดพลาดบ้าง เด็กๆจะได้เกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว หรืออาจมีสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา ฝึกความอดทนและยืดหยุ่นมากขึ้น
  5. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะในบางครั้งการได้ร้องไห้ก็เป็นการระบายความเครียดได้ดีอีกอย่างหนึ่ง และเด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดสั่งสมเอาไว้

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามเรื่องเครียดของลูกน้อย แม้ความเครียดไม่ใช่โรค แต่หากเมื่อไรที่แวะเวียนเข้ามาจนกัดกินความสุขและส่งผลเสียกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกดูว่ามีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ทั้งในเรื่องความคิด พฤติกรรม อารมณ์ และพัฒนาการ หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข อาจเกิดผลเสียในระยะยาวได้ ต้องเข้าใจพร้อมกับหมั่นคอยดูแล และรีบหาวิธีขจัดออกไปให้เร็วที่สุด

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31025


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท