Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-03-2023 10:25

ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก

ภาพประกอบเคส

ทารุณกรรมทางกาย หมายถึง การทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บทางกาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น ตาปูด ปากแตก

ทารุณกรรมทางเพศ หมายถึง การสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เช่น การจับต้องลูบคลำ การข่มขืนกระทำชำเรา

พฤติกรรมทารุณกรรมที่พ่อแม่แสดงต่อลูกทั้งทางร่างกายและทางเพศปรากฏให้เห็นบ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นการทารุณกรรมทางเพศ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ทำทารุณกรรมต่อลูก
- การศึกษาวิจัยของ Browne & Finkelhor, 1986 พบว่า 90 % ของผู้กระทำทารุณกรรมมิใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งมิได้มีบุคลิกภาพเป็นฆาตกร แต่ส่วนมากแล้วมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความสุข ซึมเศร้า โกรธง่าย มีความกดดันมาก หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้
- การศึกษาวิจัยของ Wolf, 1985 รายงานว่าพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกมักได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเช่นเดียวกันมาแต่ในอดีต และมีความเชื่อว่าการกระทำของตนเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้ตนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้
- การที่พ่อแม่ยังไม่รู้วิธีการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี กล่าวคือ
- ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกหยุดร้องไห้ และเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกหยุดได้ก็โกรธจนลืมตัวทำพฤติกรรมที่เลวร้ายลงไป เช่น เอาเตารีดนาบหลังลูก ตบตีลูกอย่างทารุณ - ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปกติของเด็ก เช่น พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกไม่ทำเลอะเทอะหรือขับถ่ายเป็นที่เป็นทางก่อนถึงวัยอันควร - ขาดความสามารถในการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของลูก ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการผิดพลาด เช่น พยายามป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องด้วยความเจ็บปวด เมื่อลูกบ้วนอาหารทิ้งก็แสดงอารมณ์รุนแรงด้วยความโกรธ

พ่อแม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีปัญหาในชีวิตสมรส และทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดลงไม้ลงมือกัน มีลูกมาก ภายในบ้านไร้ระเบียบวินัย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ครอบครัวของตนหรือแม้แต่กับเพื่อน ๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาผู้ใด เป็นเหตุให้เรื่องที่น่าสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้น - ลักษณะของเด็กก็อาจจะเป็นตัวยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวโดยมิได้ตั้งใจได้ ผลการศึกษาวิจัย (J.R Reid และคณะ, 1982) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่สูงกว่าเด็กอื่น ร้องไห้มาก และมีพฤติกรรมในทางลบมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งการวิจัยของ Wolfe (1985) พบว่าพ่อแม่ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รู้สึกเกลียดตนเองและละอายใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่รู้สึกว่าตนเองขาดอำนาจที่จะหยุดยั้งมัน
- การศึกษาวิจัยของ Kaufman & Zigler (1987) พบว่าเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศจะมีลักษณะเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดความรุนแรงต่อลูกๆ ของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอีกชั้นหนึ่ง (Zgeland & Sroufe,1981) ได้รายงานว่าหากเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศได้รับการค้ำจุนทางจิตใจจากผู้ใกล้ชิด ได้รับการกระตุ้นให้เด็กระบายความโกรธแค้น และเกลียดชังออกมาได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งสามารถพูดถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของตนออกมาโดยไม่ต้องเก็บกดแล้ว โอกาสที่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีความรักและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขก็มีทางจะเป็นไปได้มาก
- สังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนส่งเสริมต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น การตกงาน การต้องทนทำงานที่ตนไม่พึงพอใจ ปัญหาเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่เน้นความรุนแรงจะวางเจตคติเกี่ยวกับการลงโทษที่รุนแรงได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นความรุนแรง เด็กที่กระทำผิดจะไม่ถูกตี แต่จะเน้นการแก้ไขพฤติกรรมด้วยวิธีการอื่นที่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ พฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวเด็กไปแม้เข้าสู่วัยรุ่นแล้วก็ตาม โดยมีผลกระทบต่อเด็กคือ

เด็กที่ถูกทารุณทางกาย ผลที่ตามมาคือ

  • มีผลการเรียนต่ำ
  • ชอบแยกตัวจากเพื่อนฝูง ก้าวร้าว ไม่ร่วมมือกับผู้อื่น
  • การเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ อาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมา

เด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศ ผลที่ตามมาคือ

  • มีแนวโน้มจะเกิดความหวาดกลัวต่อเพศตรงข้าม
  • มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า
  • มีปัญหาพฤติกรรม ผลการเรียนต่ำ หมกมุ่นกับเรื่องเพศ
  • ซึมเศร้า ไม่ไว้วางใจบุคคลอื่น
  • มีปัญหาการปรับตัวทางเพศ

วิธีการป้องกันการทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศในเด็ก
ผู้ที่กระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มักเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเด็กมีความไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของบุคคลในครอบครัว ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงควรจะเน้นการสอนให้เด็กระมัดระวังมิให้บุคคลแปลกหน้าหรือแม้บุคคลที่เด็กรักและไว้ใจมาสัมผัสแตะต้อง ลูบคลำ จูบกอด ถอดเสื้อผ้าออก หรือชักชวนให้ไปอยู่ในที่ลับตาผู้อื่น

อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวอาจจะเป็นเหมือนดาบ 2 คมได้ ด้านหนึ่งสามารถป้องกันการถูกทำทารุณกรรมทางเพศจากคนใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กตกใจกลัว และขัดขวางต่อการมีความรักความผูกพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้

อีกวิธีการหนึ่งคือการที่พ่อแม่กระตุ้นให้เด็กเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำในแต่ละวัน โดยไม่มีการตำหนิติเตียนหรือลงโทษหากเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปลูกฝังความคิดว่าเด็กสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังได้โดยไม่ถูกลงโทษ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ทุกเรื่อง เป็นที่เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูก และตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้

ที่มา : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/parent-cruel


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท