Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เตรียมพร้อมเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความสุข


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-03-2023 10:02

ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณคนในวัยทำงานลดน้อยลง ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศที่กลับต้องดำเนินต่อไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ในวัยทำงานที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต

ภาพประกอบเคส

ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณคนในวัยทำงานลดน้อยลง ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศที่กลับต้องดำเนินต่อไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ในวัยทำงานที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต

เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเป็นเช่นนี้นโยบายส่วนใหญ่ของรัฐจึงเน้นไปที่การดูแลผู้สูงอายุของประเทศ ให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และใช้ช่วงเวลาในบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลาง และสามารถปล่อยวางจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทา

สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมพร้อม เพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณ
1. สร้างสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคยามชรา
ไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ หันมาดูแลตัวเองเสียแต่วันนี้ เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่เคยเลือกเพศ เลือกอายุ และเลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าคุณจะเป็นใครอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นโรคร้ายได้ทั้งนั้น ทางที่ดีควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย โดยทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และได้รับในปริมาณที่เหมาะกับวัย ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
  • หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ต้องทำทุกวันหรือไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  • ดูแลควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ไม่น้อยไป ไม่มากไป เพราะน้ำหนักมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ น้ำหนักที่ไม่ได้มาตรฐานจะนำพามาซึ่งโรคประจำตัวที่บั่นทอนสุขภาพและจิตใจของคุณ
  • ไม่ละเลยการตรวจร่างกายประจำปี สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ควรตรวจเป็นประจำทุก 5 ปี แต่หลังจาก 30 ปีไปแล้ว คุณควรปักหมุดลงปฏิทินกำหนดวันตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถป้องกันและรักษาเมื่อเจอโรคร้ายได้อย่างทันท่วงที
  • วัยรุ่นและวัยทำงาน วัยแห่งการสังสรรค์ปาร์ตี้ การมีสุขภาพที่ดีไม่ได้ให้คุณต้องงดการสังสรรค์ เพียงแค่ต้องมีวินัยไม่ดื่มแอลกอฮอล์บ่อย และดื่มในปริมาณที่มากจนเกินไป รวมไปถึงงดสูบบุหรี่ เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเร้าที่จะนำพาอันตรายและโรคร้ายมาสู่คุณและครอบครัวได้มากกว่าที่คิด

2. ออมเงินไว้ใช้ในวัยหลังเกษียณ
การออมเงินควรเริ่มตั้งแต่เดือนแรกที่คุณได้รับเงินเดือนประจำ มนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ที่ยังไม่มีภาระมากนัก ควรเก็บออมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ และลดสัดส่วนลงเมื่อเริ่มมีครอบครัว มีภาระหน้าที่ใหม่ ๆ ที่ต้องดูแล วัยสร้างตัวที่หนักหนาสาหัสสำหรับหลาย ๆ คน แต่คุณต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเก็บออม และต้องมีวินัยในการออม ไม่นำเงินออมที่เก็บไว้ใช้ยามชรามาใช้ในกรณีต่าง ๆ เป็นอันขาด เพื่อให้ชีวิตในวัยสูงอายุมีคุณภาพ และมีความสุข

3. ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและปลอดภัย
เมื่อคุณกลายเป็นผู้สูงอายุ หรือมีสมาชิกในครอบครัวเข้าสู่วัยชรา บ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยในทุก ๆ วัน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันดำเนินไปอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ในวัยที่ส่วนต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามเดิม ภาวะกระดูกผุ พรุน ตาที่ฝ้าฟาง หรือมีอาการต้อหินต้อกระจก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนดังเดิม การได้ยินและการรับรสลดลงตามสภาพที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักตลอดชีวิตที่ผ่านมา การหกล้มเพียงหนึ่งครั้ง กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตในวัยชราให้แตกต่างจากที่วาดฝันไว้ไปได้ตลอดกาล จึงจำเป็นต้องปรับปรุงที่อยู่อาศัยเสียใหม่ โดยมีไอเดียการปรับปรุงมาแบ่งปัน ดังนี้

  • เพิ่มความสว่างภายในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่ผู้สูงอายุใช้อยู่เป็นประจำ และบริเวณที่มีความเสี่ยงในการเกิดอันตราย อาทิ บันได ระเบียง ห้องน้ำ
  • หาหลอดไฟที่มีกระจกหรือวัสดุบัง เพราะการเห็นแสงไฟจากหลอดโดยตรงจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะตาพร่ามัว
  • เปลี่ยนวัสดุพื้นบ้านที่ไม่ลื่น โดยเฉพาะภายในห้องผู้สูงอายุ ห้องน้ำ หรือบริเวณที่ผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
  • ย้ายห้องผู้สูงอายุลงมาชั้นล่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันได ปัจจัยเสี่ยงภายในบ้านที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน

4. เตรียมพร้อมและยอมรับความสูงวัย
เมื่อเตรียมปัจจัยภายนอกพร้อมแล้ว ต้องไม่ลืมเตรียมภายในให้พร้อม ทั้งสุขภาพกาย ใจ และสังคม ดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว หรือโรคคนชรา รวมถึงดูแลร่างกายให้สามารถเดินได้ ทานได้ และใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึงพาผู้อื่น

ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้การยอมรับความชรา รู้จักประมาณตน และอยู่กับความชราอย่างเข้าใจ ปล่อยวาง ร่วมกิจกรรมที่จะนำพามาซึ่งเส้นทางแห่งความสุข อาทิ การปฏิบัติธรรม ทำบุญ ทำทาน ร่วมกิจกรรมทางศาสนาตามวาระโอกาสต่าง ๆ ที่สำคัญต้องรู้จักสร้างเครือข่ายทางสังคม เพื่อสร้างมิตรภาพ และความสัมพันธ์อันดีที่จะนำพามาซึ่งกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ กับเพื่อนในวัยเดียวกัน สร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม อย่างการถ่ายทอดความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่ตนถนัดให้กับคนรุ่นหลัง มีงานอดิเรกที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณค่า สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวผู้สูงอายุเอง

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์
https://bit.ly/3ZKp3cA


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท