Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

การสร้างสุขในการใช้ชีวิตและการทำงาน


หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-03-2023 09:32

รู้จักใช้ชีวิตที่สมดุล พอเพียง มีความหมายและสันติสุข ด้วยการเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต และตระหนักในคุณค่าของชีวิตและการเรียนรู้

ภาพประกอบเคส

  1. บริหารร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และปัญญาเป็นประจำ ด้วยการออกกำลังกาย การเจริญสติและการทบทวนตัวเอง (มองตน) การรู้จักจัดการกับอารมณ์และความเครียด การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การนอนหลับให้เพียงพอ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการฝึกลับสมอง การทำงานจิตอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรม และสิ่งที่ให้โทษต่อสุขภาพ นำพาให้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ และสังคม มีสติและปัญญาแก่กล้าสมบูรณ์รู้เท่าทันตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ

  2. ใส่ใจเรียนรู้ให้เข้าใจเรื่อง “กลไกสมอง 3 ส่วน” ได้แก่ สมองส่วนหลัง (“สมองตะกวด”) สมองส่วนกลาง (“สมองสุนัข”) และสมองส่วนหน้า (“สมองมนุษย์”) ซึ่งทำหน้าที่เพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายตามลำดับ ซึ่งสามารถทำควบคู่กันไปทั้ง 3 อย่างในคนทุกวัย ทุกฐานะและอาชีพ การรู้เรื่องกลไกสมองที่มีอยู่ในตนเท่ากับการรู้จักตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การรู้ทันว่าตัวเองกำลังคิด พูด และทำด้วยสมองส่วนไหน

  3. รู้จักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมทั้งคนเล็กคนน้อย และคนที่มีอายุ ตำแหน่ง ฐานะ และอำนาจที่น้อยกว่าเรา ตระหนักว่า ทุกคนมีกลไกสมองที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิตให้เก่ง-ดี-มีความสุขได้ และมองว่าทุกคนมีดีในตัวเราก็จะได้เกียรติ เคารพ เปิดใจ ถ่อมตัว เรียนรู้ รับฟังคนทุกคน

  4. ในการทำงานทุกอย่าง ให้ใช้หลัก “ทำงานด้วยใจและทำงานเป็นยาใจ” คือมีใจรักงาน ด้วยการตระหนักรู้ในคุณค่าและเป้าหมายของการทำงาน ขณะเดียวกันก็ใช้งานเป็นเวทีในการเรียนรู้ (ให้เกิดความเข้าใจตน เข้าใจคน เข้าใจงาน) และสานสัมพันธ์กับผู้คน ช่วยให้พัฒนางานให้ก้าวหน้า ยั่งยืน เอื้อให้ทุกคนมีคุณค่าและความสุข

  5. หมั่นเรียนรู้จากประสบการณ์การดำเนินชีวิตและการทำงาน ด้วยการมีสติอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรดี อะไรควร ให้ลงมือทำทันที (3 ท.) และทบทวนทันที (4 ท.) ว่า “ได้ทำหรือยัง” “ทำแล้วมีอะไรที่น่าภูมิใจ” และให้กำลังตัวเอง มีอะไรที่ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น”

  6. มองเห็นด้วยตนเองถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ตระหนักว่าทุกชีวิตและทุกสิ่งล้วนตกอยู่ในวงจร “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ทำให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดในทุกสิ่ง ทั้งวัตถุ สิ่งของ เรื่องราว ผู้คน (รวมทั้งตัวเอง) ความรู้ ความเชื้อ ความคิด ความเคยชิน มีใจเป็นกลางในการมองสิ่งต่างๆ ให้ตรงตามที่เป็นจริง สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนอง (respond) ต่อสิ่งต่างๆ ไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตอบโต้ (react) ด้วยอคติ ความเคยชิน และ/หรืออารมณ์

  7. รู้จักใช้ชีวิตที่สมดุล พอเพียง มีความหมายและสันติสุข ด้วยการเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต และตระหนักในคุณค่าของชีวิตและการเรียนรู้ ซึ่งอาจกระตุ้นด้วยความคิด เช่น “ชีพเรายาวหรือสั้น ไม่สำคัญเท่าคุณค่า” “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” “ชีวิต คือ การเดินทาง ชีวิตคือ การเปลี่ยนแปลง ชีวิต คือ การเรียนรู้ การเรียนรู้ คือ ความสุข”

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/41QoD6k


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท