Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ภาวะเสพติดการนอน (Dysania) ไม่อยากลุกจากเตียง


หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

04-03-2023 09:33

เช้าๆ หลายคนอาจจะเคยมีอาการ ไม่อยากตื่นนอน หรือต้องใช้พลังใจอย่างมากในการลุกออกจากเตียง แต่รู้หรือไม่ว่าหากเกิดอาการแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีอาการ “เสพติดการนอน (Dysania)” ก็เป็นได้

ภาพประกอบเคส

เช้าๆ หลายคนอาจจะเคยมีอาการ ไม่อยากตื่นนอน หรือต้องใช้พลังใจอย่างมากในการลุกออกจากเตียง แต่รู้หรือไม่ว่าหากเกิดอาการแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีอาการ “เสพติดการนอน (Dysania)” ก็เป็นได้

แม้ว่าจะไม่ถือเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่คำจำกัดความของ อาการเสพติดการนอน (Dysania) หรือที่บางคนเรียกว่า โรคเตียงดูด เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนมากจนไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้ แม้จะไม่ได้จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาการที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

สัญญาณของภาวะเสพติดการนอน
ผู้มีอาการเสพติดการนอนมักรู้สึกอยากนอนผิดปกติจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และงัวเงีย (Sleep Inertia) เมื่อตื่นนอนก็รู้สึกอยากหลับต่อ บางคนอาจมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวันด้วย ซึ่งคนที่มีภาวะเสพติดการนอนแต่ละคนอาจมีอาการต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ

สาเหตุและผลเสียของการเสพติดการนอน
การเสพติดการนอนเกิดจากโรคหรือความผิดปกติของสุขภาพ เช่น

  • โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมักมีอาการนอนมากผิดปกติและอ่อนเพลีย ร่วมกับอาการอื่น เช่น เศร้าและร้องไห้บ่อย หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะและปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome หรือ Myalgic Encephalomyelitis) ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากลุกจากเตียง และแม้จะพักผ่อนแล้วก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น
  • ภาวะนอนมากเกินไป (Hypersomnia) ทำให้มีอาการง่วงนอนมากในช่วงกลางวันจนสามารถหลับได้ตลอดเวลา
  • ความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ที่ทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท เมื่อตื่นมาจะรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย และไม่อยากลุกจากเตียง
  • โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โลหิตจาง มะเร็ง ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) และกลุ่มโรคไทรอยด์อย่าง ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) และโรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto’s Thyroiditis) ที่ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียง่ายกว่าคนทั่วไป
  • ความเศร้าโศก เสียใจที่เกิดจากการสูญเสีย ซึ่งอาจทำให้นอนหลับยากและนอนไม่พอ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้าที่ทำให้อ่อนเพลียและง่วงนอน

อาการของภาวะเสพติดการนอน อาจใกล้เคียงกับภาวะ Clinomania ที่ทำให้รู้สึกไม่อยากลุกจากเตียง และภาวะ Clinophilia ที่ทำให้ใช้เวลาอยู่บนเตียงนานผิดปกติทั้งในเวลากลางคืนและระหว่างวัน แต่คนที่มีภาวะเสพติดการนอนอาจไม่ได้ใช้เวลานอนหลับนานกว่าคนอื่นเสมอไป

ทั้งนี้ ระยะเวลาการนอนปกติของคนทั่วไปจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ เช่น เด็กวัยเรียนอายุ 6–13 ปี ใช้เวลานอนวันละ 9–11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 14–17 ปี ใช้เวลานอนวันละ 8–10 ชั่วโมง และผู้ใหญ่อายุ 18–64 ปี ใช้เวลานอนวันละ 7–9 ชั่วโมง หากนอนหลับอย่างเพียงพอตามระยะเวลาแต่ยังรู้สึกอ่อนเพลียมาก และไม่สามารถตื่นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

คนที่เสพติดการนอนอาจนอนหลับยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการนั่ง ๆ นอน ๆ ยังจัดเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงอาจทำให้การทำงานของระบบเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

การดูแลตัวเองเมื่อเสพติดการนอน
ใครที่รู้สึกง่วงนอนบ่อย ไม่อยากลุกจากเตียง อ่อนเพลีย และไม่กระฉับกระเฉง อาจเริ่มจากการปรับพฤติกรรมเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น ดังนี้

  1. สร้างสุขอนามัยการนอนที่ดี
  2. เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน จัดห้องนอนให้น่านอน มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม
  3. หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก่อนเข้านอน
  4. ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ และนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักใกล้เวลาเข้านอน
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนด้วย

  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  8. การออกกำลังกายช่วยให้เราได้เคลื่อนไหวร่างกายและลดความเครียด
  9. การออกกำลังกายช่วงกลางวันทำให้ได้รับแสงแดดที่ช่วยให้การทำงานของวงจรการนอนหลับทำงานเป็นปกติ ซึ่งช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  10. แนะนำให้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  11. หากต้องการออกกำลังกายในช่วงเย็น ควรเลือกกิจกรรมที่ไม่ใช้แรงมาก เช่น เดิน โยคะ และขี่จักรยาน
  12. งดออกกำลังกายก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง เพราะการออกกำลังกายหนักใกล้เวลาเข้านอนอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น

ที่มา : มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/lifestyle/health-beauty/news_3850382


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท