Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เรื่องเพศต้องพูด เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิ


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

04-03-2023 08:58

การสอนลูกเรื่องการเคารพความแตกต่างทางเพศ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนได้ตั้งแต่ลูกเริ่มรู้จักความแตกต่างของเพศ คือ เด็กจะเริ่มรู้จักเพศของตนเองตอนอายุประมาณ 3 ปี การสอนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยนี้คือ การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กผู้หญิงจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมแม่ ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมพ่อ ซึ่งจะเป็นพัฒนาการที่ค่อยๆ พัฒนาในช่วงอายุ 4-6 ปี เด็กจะสังเกตวิธีที่พ่อและแม่ปฏิบัติต่อกัน และคุณพ่อคุณแม่จะสามารถเริ่มพูดบอกพฤติกรรมที่เด็กควรปฏิบัติต่อเพื่อนเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน

ภาพประกอบเคส

การสอนลูกเรื่องการเคารพความแตกต่างทางเพศ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนได้ตั้งแต่ลูกเริ่มรู้จักความแตกต่างของเพศ คือ เด็กจะเริ่มรู้จักเพศของตนเองตอนอายุประมาณ 3 ปี การสอนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยนี้คือ การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กผู้หญิงจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมแม่ ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมพ่อ ซึ่งจะเป็นพัฒนาการที่ค่อยๆ พัฒนาในช่วงอายุ 4-6 ปี เด็กจะสังเกตวิธีที่พ่อและแม่ปฏิบัติต่อกัน และคุณพ่อคุณแม่จะสามารถเริ่มพูดบอกพฤติกรรมที่เด็กควรปฏิบัติต่อเพื่อนเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน

นอกจากนี้การให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่อง “สิทธิทางเพศ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิทธิทางเพศเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่ต้องได้รับโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีการบังคับ และไม่มีการใช้ความรุนแรง ในเรื่องการได้รับบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีมาตรฐาน การได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีทางเพศ การได้รับการให้การศึกษาเรื่องเพศวิถีศึกษา การควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตนเอง การเลือกคู่ครอง การตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ การสมัครใจมีความสัมพันธ์ทางเพศ การสมัครใจที่จะแต่งงาน การตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่และมีเมื่อใด และการมีชีวิตด้านเพศที่พึงพอใจและปลอดภัย

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ เรามีเทคนิคสอนลูกให้ปลอดภัย มานำเสนอให้กับคุณพ่อคุณแม่นำไปใช้พูดคุยกับลูก ๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

เทคนิค “พูดเรื่องเพศกับลูก” ไม่ให้ถูกล่วงละเมิด

  1. สอนให้รู้จักร่างกาย ให้ลูกเรียนรู้อวัยวะในร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ ช่วงที่เด็กเริ่มเรียกอวัยวะได้ สอนเรียกอวัยวะเพศด้วยชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ และสอนคำเรียกที่ถูกต้องเมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง เพราะหากเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า จะได้อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจตรงกัน
  2. บอกพื้นที่ส่วนตัว บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่ผู้อื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ และเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแล แนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน
  3. ย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง ย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิสัมผัส ยกเว้นเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ เมื่อมีคนมาสัมผัส
  4. สอนให้รู้จักปฏิเสธ ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ และอาจจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือดัง ๆ และวิ่งหนีโดยไม่ต้องเกรงใจ
  5. บอกสัมผัสที่ปลอดภัย บอกลูกว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เช่น สัมผัสของ พ่อแม่ ญาติ พี่เลี้ยง จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย สัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษาร่างกาย หรือการสัมผัสของครูในบางวิชาเรียนอาจเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย
  6. อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนเเปลกหน้าที่มาคุยเด็ดขาด ถึงเเม้คนเหล่านั้นจะมีสิ่งของหรือขนมมาให้ ห้ามกินเด็ดขาด หรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อเเม่ก็ไม่ต้องเกรงใจ แม้ว่าจะเป็นคนที่เด็กเคารพ เพราะคนที่ทำอนาจารเด็กอาจเป็นคนใกล้ชิด
  7. ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง กำชับลูกเสมอไม่ทำตามคำขอร้องหรือข่มขู่ หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ให้บอกพ่อแม่ทันที ไม่ต้องปิดเป็นความลับ ให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถปกป้องเขาได้
  8. พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดัน เพื่อที่ลูกเกิดความวางใจและมั่นใจ

ข้อควรระวัง
การออกคำสั่ง “ห้าม” ไม่ใช่ทางออก เพราะอาจกลายเป็นการส่งเสริมที่จะทำให้ลูกยิ่งอยากรู้ อยากลอง และนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดหรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่ต้องฝึกลูกให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม กับสิ่งรอบตัว เปิดโอกาสให้ค้นหาคำตอบที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือกและทำ การสร้างบรรยากาศในบ้านที่เปิดกว้างให้ลูกในการพูดคุยเรื่องเพศและทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจึงเป็นวิธีที่ได้ผลกว่า

พ่อแม่ต้องสังเกตเด็กอาจแสดงออกเป็นอาการทางกาย โดยไม่รู้สาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ ร้องไห้ นอนไม่หลับหรืออาจมีอาการซึมเศร้า หวาดกลัว โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว จะมีความกดดันทางร่างกาย และอารมณ์อย่างมาก บางทีอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน

เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศซ้ำ ๆ หรือมีเหตุการณ์ที่ถูกใช้ความรุนแรงร่วม จะมีบาดแผลภายในอาจอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ บางรายฝังความทรงจำไว้ในจิตใต้สำนึก จำเหตุการณ์ใด ๆ ไม่ได้ แต่ยังมีอาการแสดงได้ เช่น หวาดกลัวผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายคลึงผู้กระทำ ไม่สามารถมีชีวิตคู่ได้ หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพหรือการทำงาน

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/41KsVw0


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท