Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

รู้จัก Sexual Harassment ไม่เว้นพื้นที่ให้การคุกคามทางเพศ


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

04-03-2023 08:50

การคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งด้วยการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำดังกล่าวเกิดความรู้สึกอึดอัด เดือดร้อนรำคาญใจ ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือถูกคุกคาม แม้ผู้กระทำจะไม่มีเจตนาร้ายก็ตาม ซึ่งการคุกคามทางเพศนั้น ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเป็นได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เพศทางเลือก เด็กและผู้ใหญ่ เกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน พื้นที่สาธารณะ และในสื่อสังคมออนไลน์

ภาพประกอบเคส

การคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งด้วยการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำดังกล่าวเกิดความรู้สึกอึดอัด เดือดร้อนรำคาญใจ ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือถูกคุกคาม แม้ผู้กระทำจะไม่มีเจตนาร้ายก็ตาม ซึ่งการคุกคามทางเพศนั้น ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเป็นได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เพศทางเลือก เด็กและผู้ใหญ่ เกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน พื้นที่สาธารณะ และในสื่อสังคมออนไลน์

รูปแบบของการคุกคามทางเพศ ได้แก่

  1. การคุกคามด้วยคำพูด การแซว หรือพูดเล่น ซึ่งบางทีคนแซวอาจจะไม่มีเจตนาที่ไม่ดี แต่คนที่โดนแซวอาจรู้สึกไม่สบายใจได้ การเล่นมุกตลกสองแง่สองง่าม พูดจาแทะโลม การพูดขยายความถึงสรีระร่างกาย ชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ การใช้คำเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่ง เช่น อยากดื่มนม การผิวปากหรือส่งเสียงหยอกล้อ เป็นต้น
  2. การคุกคามทางสายตา หรือการมอง ถึงแม้จะเป็นเพียงการมองเฉย ๆ แต่หากมีจุดประสงค์แอบแฝง สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้ที่มอง ก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศ เช่น การจ้องมองไปยังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การแอบดู หรือการทำหน้าตากะลิ้มกะเหลี่ย
  3. การคุกคามทางร่างกาย การสัมผัสร่างกาย แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด จับมือ จับขา โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม รวมไปถึงการสัมผัสตัวแบบด้วยท่าทีที่ดูเหมือนไม่จงใจและไม่คิดอะไร เช่น การโอบไหล่ หรือ การวางมือ ตบขา เป็นต้น หรือการถูกลูบไล้หรือโดนนั่งเบียดบนรถสาธารณะโดยอาศัยจังหวะให้เหมือนกับการบังเอิญ
  4. การคุกคามด้วยข้อความ การเขียนจดหมาย หรือส่งข้อความลามก การส่งภาพหรือคลิปลามก หรือภาพอวัยวะเพศให้กับเหยื่อ การโชว์อวัยวะเพศและช่วยตัวเองต่อหน้าอีกฝ่าย เป็นต้น รวมถึงการแสดงความคิดเห็น การแชท และการแชร์ หรือสร้างข่าวลือ ที่สร้างความอึดอัดไม่สบายใจให้กับคู่สนทนา นั่นถือเป็นการคุกคามนั่นเอง
  5. การแอบถ่ายภาพ/คลิปในตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ใต้บันได การแอบถ่ายใต้กระโปรงในรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น รวมถึงการติดตามเหยื่อไปในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

การถูกคุกคามทางเพศนั้น สร้างบาดแผลให้กับทั้งร่างกายและจิตใจของเหยื่อ ทำให้เกิดความเครียด ความหวาดระแวง และความกลัวที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การขาดงาน และเพิ่มความเสี่ยงในปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้อาจก่อให้เกิดโรคเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) พฤติกรรมใช้สารเสพติดหรือติดสุราตามมา

หากตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ขอให้ตั้งสติ แม้อาจจะทำได้ยากในสถานการณ์คับขัน แต่เป็นการรับมือเบื้องต้นที่ดี แล้วหาทางหลบออกจากสถานการณ์การถูกคุกคามโดยเร็วที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถหลบออกมาได้ อาจหลีกเลี่ยงโดยไม่สนใจการกระทำนั้น (ในกรณีที่ไม่ใช่การคุกคามทางร่างกาย) พยายามหาคนช่วย เช่น ไปอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก ไปหาตำรวจ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย

อีกวิธีหนึ่งคือทำเป็นพูดคุยกับคนที่อยู่ในบริเวณนั้นหรือคุยโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้คุกคามเกิดความกลัวและหยุดพฤติกรรม หากเป็นไปได้และมั่นใจว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย ควรบันทึกภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อความ และข้อมูลของผู้คุกคามเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดตามกฎหมาย และหากพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ ก็ไม่ควรนิ่งเฉยการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ และสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับสังคม

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3Zhk0AN


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท