Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคไอบีเอส ลำไส้ทำงานแปรปรวน


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

25-02-2023 09:48

โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน หรือ โรคไอบีเอส Irritable Bowel Syndrome เรียกย่อ ๆ ว่า (IBS) เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ลำไส้

ภาพประกอบเคส

โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน หรือ โรคไอบีเอส Irritable Bowel Syndrome เรียกย่อ ๆ ว่า (IBS) เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการอักเสบ ไม่แผลไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่น ๆ ที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมทัยรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น

โรคลำไส้ทำงานแปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรังอาจเป็นปี ๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะเป็นมาหลาย ๆ ปี และไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ และความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลมากว่าทำไม่โรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ในบางรายอาการท้องเสียบ่อยจะรบกวนการทำงานอย่างมาก ทำให้ไม่อยากออกไปทำธุระหรือเดินทางนอกบ้านหรือนอกที่ทำงาน

สาเหตุของโรคไอบีเอส ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จึงยังไม่มียาที่ดีหรือเฉพาะโรคที่จะกำจัดสาเหตุของโรคไอบีเอสได้ ซึ่ง จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมผู้ป่วยจึงเป็นเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยจากหลักฐานที่มีเชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่ง 2 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่
1. การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติไป นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหารซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอสจะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย เป็นต้น
3. ตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนหนุนเสริมภาวะดังกล่าว

โรคไอบีเอส จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่
โรคไอบีเอส ไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่กลายเป็นมะเร็งแม้จะมีประวัติเป็นๆ หายๆ มานาน ยิ่งผู้ป่วยมีอาการมานานเป็นปี ๆ โอกาสเป็นโรคมะเร็งยิ่งน้อยมาก ที่ต้องระวังคือ ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเพิ่งมามีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หลังอายุ 40-50 ปี อาจมีโอกาสที่จะมีสาเหตุจากโรคมะเร็งลำไส้ได้สูงขึ้น (คือมีโรคมะเร็งลำไส้เกิดร่วมกับโรคไอบีเอส) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและสืบค้นโดยแพทย์ให้รู้สาเหตุที่แน่นอน

อาการของโรคไอบีเอส
ปกติการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมาก บางคนจะถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนถ่ายอุจจาระเป็นบางวัน โดยทั่วไปถือว่าการถ่ายอุจจาระที่ปกติ คือ ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระที่ปกติจะต้องเป็นก้อนแต่ต้องไม่แข็งเป็นลูกกระสุน หรือเหลวมาก หรือเป็นน้ำ ต้องไม่มีเลือดปน และไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย

อาการสำคัญของผู้ป่วยไอบีเอส
- ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย และอาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ
- ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจเป็นท้องเสียหรือท้องผูก หรือเป็นท้องผูกสลับกับท้องเสีย
- ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็ง หรือเหลวจนเป็นน้ำ
- ผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระลำบากขึ้นต้องแบ่งมากหรืออาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันทีกลั้นไม่อยู่
- ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งจะไปถ่ายอุจจาระมา มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด
- ถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากขึ้น
- ท้องอึดมีลมมากในท้อง เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย
- มีอาการเป็นๆ หายๆ นานเกิน 3 เดือน
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด ซีดลง มีอาการช่วงหลังเที่ยงคืนหรือมีอาการปวด เกร็งท้องมากตลอดเวลาอาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส

การรักษาโรคไอบีเอส
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานหรือได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์จะให้การรักษาไปตาม อาการ เช่น
- ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือให้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสีย เป็นอาการเด่น
- ให้ยาลดการเกร็งตัวของลำไส้เพื่อช่วยเรื่องปวดท้อง

ดังนั้นผลการรักษาจึงยังไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ไม่หายขาด แต่อย่างไรก็ตามเริ่มมียาตัวใหม่ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาอาการปวดท้องและท้องเสียของผู้ป่วยไอบีเอสได้ดีขึ้น โดยออกฤทธิ์ตรงกับพยาธิกำเนิด

อาหารและความเครียดมีผลต่อโรคไอบีเอสหรือไม่
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหลังมื้ออาหารหรือเมื่อเครียด ซึ่งมีการศึกษาว่ามีหลักฐานยืนยันในเรื่อง ดังกล่าว ปกติการกินอาหารจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 30 นาที ถึง 1 ชม. หลังอาหาร แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการกระตุ้นให้มีการบีบตัวของลำไส้เร็วขึ้นและรุนแรงมากขึ้น จนมีอาการปวดท้องเกร็งและมีท้องเสียเกิดขึ้น ส่วนประกอบของอาหารได้แก่ ไขมัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์หรือพืชจะเป็น ตัวกระตุ้นที่รุนแรงของการบีบตัวของลำไส้
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด หนังเป็ด หนังไก่ นม ครีม เนย น้ำมันพืช และอะโวคาโด กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาลให้เพิ่มมากขึ้น
- อาหารที่มี fiber จะช่วยลดอาการของไอบีเอสได้ โดยการบีบตัวหรือเกร็งตัวของลำไส้ลดลง นอกจากนี้ fiber ยังช่วยดูดน้ำไว้ในตัวอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น อาหารที่มี fiber มากจะทำให้มีท้องอืดมีแก๊สในท้องได้ แต่จะเป็นเฉพาะช่วง 1 - 2 สัปดาห์แรก ต่อไปร่างกายจะปรับตัวได้เอง
- ควรกินทีละน้อยแต่กินให้บ่อยขึ้นไม่ควรกินจนอิ่มมาก เพราะว่าจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ของดอง น้ำอัดลม และยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นด้วยความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเกร็งตัว ของลำไส้เพิ่มขึ้น
- ผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้สบาย และพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ถือเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยไอบีเอสด้วยส่วนหนึ่ง

เนื่องจากโรคไอบีเอสมักมีแนวโน้มจะกลับมามีอาการอีกเมื่อได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้วการปรับ การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนดังกล่าวแล้วควรทำไปตลอด ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้วยังช่วย ป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่และจะได้ไม่ต้องกินยามากอีกด้วย

ที่มา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=365


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท