การดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วยติดเตียง
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
25-02-2023 09:42
ผู้ป่วยติดเตียงมีแนวทางในการดูแลสุขภาพในช่องปากที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย
ผู้ป่วยติดเตียงมีแนวทางในการดูแลสุขภาพในช่องปากที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย เช่น
- ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน และความสามารถด้านการรับรู้สื่อสาร
- ความเสี่ยงที่จะสำลักที่เกิดจากภาวะกลืนลำบาก ความร่วมมือของผู้ป่วยในการอ้าปาก
- ปัญหาของทันตสุขภาพที่มีอยู่ ภาวะน้ำลายแห้งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุที่สูงขึ้น
ดังนั้น การวางแผนดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน โดยมีหลักที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
- การจัดท่าผู้ป่วย หากแพทย์ประเมินว่า ผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบากจะทำให้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินอากาศและก่อให้เกิดการอักเสบของปอดได้ แนะนำให้ผู้ดูแลจัดท่าผู้ป่วยแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน โดยทำมุม 30-60 องศากับพื้น ระวังอย่าให้หน้าหงายไปข้างหลังหรือหากนั่งไม่ได้ให้อยู่ในท่านอนตะแคง
- การเลือกแปรงสีฟัน ควรใช้แปรงสีฟันขนาดเล็ก แปรงสีฟันไฟฟ้าที่มีหัวแปรงขนาดเล็ก ขนนุ่ม ด้ามยาว หากผู้ป่วยสามารถแปรงเองได้ ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยแปรงเอง ร่วมกับการปรับด้ามแปรงแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้จับกระชับมากขึ้น และผู้ดูแลอาจจะต้องช่วยทำความสะดวกซ้ำ หากผู้ป่วยทำความสะอาดได้อย่างไม่ทั่วถึง
- การเลือกยาสีฟัน ในกรณีที่ผู้ป่วยเสี่ยงสำลัก ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่ปราศจากสารลดแรงตึงผิวและสารที่ทำให้เกิดฟอง (Sodium Lauryl Sulfate: SLS) ร่วมกับการมีฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่ได้รับประทานอาหารทางปาก แต่ถ้าผู้ป่วยยังฝึกกลืนอาหารที่เพิ่มความหนืดซึ่งทำจากแป้งก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน และในขณะแปรง หากพบว่ามีฟองหรือน้ำลายมาก ให้คอยดูดซับน้ำลายระหว่างทำความสะอาดด้วย
- การทำความสะอาดซอกฟัน ใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) หรือ แปรงซอกฟัน (Proxabrush) โดยอาจปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเลือกชนิดอุปกรณ์และขนาดที่เหมาะสม
การทำความสะอาดลิ้น เนื่องจากโครงสร้างส่วนที่เป็นขนของลิ้น เหมาะกับการอยู่อาศัยของแบคทีเรียต่าง ๆ โดยมีผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีฝ้าของแบคทีเรียหนาตัวบริเวณด้านบนของลิ้น จะมีอัตราการเกิดปอดอักเสบมากกว่าผู้ที่มีฝ้าน้อยกว่า โดยแนะนำให้ใช้ไม้ลักษณะคล้ายไม้พาย แปรงจากด้านหลังมาด้านหน้า
- ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง สามารถใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์และปราศจากแอลกอฮอล์ ในรูปแบบน้ำในผู้ป่วยที่บ้วนน้ำได้ แต่หากมีความเสี่ยงต่อการสำลักให้ใช้ในรูปแบบเจล หรือน้ำชุบกับก้านฟองน้ำ หรือ Proxabrush ถูทำความสะอาดซอกฟัน
- ทำความสะอาดกระพุ้งแก้ม เพดาน ด้วยนิ้วพันผ้าก๊อซ หรือไม้พันผ้าก๊อซ เพื่อเอาอาหารที่ค้างในช่องปากหรือเสมหะออกให้หมด
- หากผู้ป่วยไม่ยอมอ้าปากเอง แนะนำให้ใช้เครี่องมือช่วยในการอ้าปาก เช่น Mouth prop โดยผูกด้วย Floss ยื่นออกมานอกปาก เพื่อป้องกันการหลุดลงคอ หรือ Mouth rest หรือใช้ไม้ไอศกรีมหลายอันพันรวบด้วยผ้าก๊อซ
- ให้ความชุ่มชื้นริมฝีปากด้วย Pretoleum Jelly หรือเจลหล่อลื่นสูตรน้ำและหากตรวจพบแผลในช่องปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อได้รับยารักษาตามรอยโรค หรือวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็ง
ทั้งนี้การกระตุ้นให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพในช่องปาก มีส่วนช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับทางทันตกรรม เช่น การติดเชื้อจากฟันผุทะลุโพรงประสาท โรคปริทันต์อักเสบ การเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก เป็นต้น
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/how-when-taking-care-of-oral-health-of-bedridden-patients/