Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

LGBT กับคนทางการศึกษา ต่อการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

25-02-2023 08:07

กลุ่ม LGBT ในสังคมไทยได้ใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างตัวตนหรือสร้างการยอมรับในสังคมไทยอย่างไรบ้าง

ภาพประกอบเคส

1.ทำไมสื่อไทยชอบนำเสนอ LGBT ในภาพตัวแทนของความตลก เป็นผู้สร้างสีสัน ให้เสียงหัวเราะ คุณมีมุมมองในประเด็นนี้อย่างไร?

การนำเสนอของสื่อที่ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นภาพของความตลกพบในยุคแรก ๆ ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ปัจจุบันเมื่อภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT เปลี่ยนไป ด้วยความสามารถต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ ความสามารถในการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งหน้า การเป็นดีไซน์เนอร์ ก็ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นจนลบภาพของความตลกไป ส่วนตัวมองว่าเดิมที่สื่อนำเสนอภาพเป็นตัวตลกในเชิงเหมารวมเพราะสื่อต้องการให้ผู้ชมมีความสนใจ แต่ในยุคหลังจะเห็นว่าการนำเสนอ LGBT ในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น โดยเน้นเรื่องความสามารถ แต่ก็ยังมีบ้างที่ LGBT บางคนก็ยังคงต้องการพื้นที่ โดยการนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้เป็นที่จดจำจึงต้องทำให้ตัวเองเป็นจุดสนใจด้วยการแสดงภาพด้านตลก

2.ในโรงเรียน การนำเสนอเรื่องราว LGBT ได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงไร พบเคสที่เป็นปัญหาบ้างมั้ย?

ตอนนี้เราอยู่ในโลกยุคสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งเชิงวัฒนธรรม ความคิด ค่านิยม ทัศนคติ การที่คนจะ anti LGBT นั้นน้อยมาก ๆ ซึ่งการแสดงออกให้เห็นถึงการเหยียดเพศส่วนตัวนั้นพบน้อยมาก แต่ในเรื่องความคิดเหยียดเพศอันนี้ก็อาจจะมีบ้าง LGBT บางคนมีความสามารถที่ shine มากๆ จนทำให้สังคมยอมรับโดยมองที่ความสามารถของคนในกลุ่มนี้อย่างแท้จริง

3.ในฐานะที่เป็นครูในระบบ ความคาดหวังของสังคม ที่ครูต้องเป็นต้นแบบของนักเรียน ทำให้จำกัดขอบเขตการแสดงตัวตนของครู LGBT มากน้อยเพียงไร?

ทุกวันนี้สื่อนำเสนอภาพ LGBT ในแง่บวกมากขึ้น ทำให้คนไม่ได้มอง LGBT ในทางลบเสมอไป การที่สื่อนำเสนอภาพดีมากขึ้น ก็ทำให้คนในสังคมไม่ได้รู้สึกว่า LGBT นั้นเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม กลับรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีความสามารถจนคนในสังคมยอมรับ ส่วนตัวสอนเด็กระดับมัธยมซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กรู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ต้องการอะไร การที่เราแสดงความเป็น LGBT ออกมาไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของเด็ก การที่เด็กอยู่กับเราและกล้าเปิดเผยตัวตนของตัวเอง นั่นแปลว่าเขารู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับเรา ส่วนตัวเรารู้ขอบเขตในการแสดงออกอยู่แล้วว่าเมื่ออยู่กับนักเรียนควรจะแสดงออกอย่างไรให้พอดี

4.ในปัจจุบันมีการนำเสนอพื้นที่ของ LGBT ในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น คุณมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร?

มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะได้เห็น LGBT ในมุมมองที่หลากหลาย แต่เดิมภาพลักษณ์ของ LGBT ถูกนำเสนอเฉพาะด้านตลก การแต่งตัวล้อเลียน เป็นภาพลักษณ์แบบด้านเดียว ปัจจุบันก็ยอมรับว่าสื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งก็เป็นข้อดี มีการนำเสนอภาพความสามารถต่างๆ หรือ LGBT ที่มีการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ทำให้สังคมไทยเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องเพศมากขึ้น แต่บางสื่อก็ยังคงผลิตซ้ำภาพลักษณ์ในมุมมองของการเป็นตัวตลก สิ่งนี้ไม่โอเค เพราะล้าสมัยไปแล้ว เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 เรื่องเพศก็ควรถูกพูดถึงในหลากหลายแง่มุมมองขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายเช่นนี้

5.กลุ่ม LGBT ในสังคมไทยได้ใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างตัวตนหรือสร้างการยอมรับในสังคมไทยอย่างไรบ้าง?

ปัจจุบันการสร้างอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์หลากหลายมากกว่าเดิม บางคนนำเสนอตัวเองผ่านการทำงานวิชาการ การให้ความรู้ การให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ บางคนนำเสนอตัวเองโดยการผลิตซ้ำภาพเดิมๆ เช่น เล่นตลก ใช้คำหยาบ เพื่อเชิญชวนให้คนเข้ามาดู ซึ่งก็ไม่แปลกหากคนในสังคมบางส่วนยังติดภาพ LGBT แบบเดิม เพราะการผลิตซ้ำอัตลักษณ์แบบเดิมในโลกออนไลน์ยังคงมีอยู่จริง

6.ในสังคมไทยโลกออนไลน์มีอิทธิพลอย่างมาก การศึกษาไทยได้ให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศเพียงพอรึไม่ จะต้องเสริมเรื่องใด?

อาจจะตอบไม่ได้ทั้งหมดว่าทุกโรงเรียนมีการปลูกฝังค่านิยมในเรื่องนี้หรือไม่ แต่ถ้าดูตามหลักสูตรก็มีตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างหลากหลายอยู่ ที่สำคัญคือครูจะตีความออกหรือไม่ว่าความแตกต่างหลากหลายนั้นรวมถึงเรื่องเพศด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อชาติ ศาสนาเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวก็มีการพูดถึงเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในชั้นเรียนของตัวเอง เพราะ global goals ก็มีการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) โดยให้นักเรียนอภิปรายและตั้งคำถามในชั้นเรียนว่าเวลาพูดถึงความหลากหลายทางเพศ มีเพศอะไรบาง การยอมรับความหลากหลายทางเพศคืออะไร และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศจะปฏิบัติต่อคนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างไรบ้าง

ที่มา :
โดย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
https://bit.ly/41eWKEK


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท