Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เลือดออกมากแค่ไหน จึงควรไปพบแพทย์


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

22-02-2023 15:43

อาการเลือดออก เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะรอยช้ำตามแขนขา

ภาพประกอบเคส

อาการเลือดออก เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะรอยช้ำตามแขนขา ซึ่งสามารถพบได้เด็กได้มากถึงเกือบร้อยละ 20 ของทั่วไป นอกจากรอยช้ำแล้ว อาการเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ ก็พบได้มากถึงร้อยละ 25 ในเด็กทั่วไป และภาวะประจำเดือนออกมากก็พบได้เกือบร้อยละ 50 ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป และอาการเลือดออกทั้ง 2 อย่างหลังยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะซีดได้ด้วย

อาการเลือดออกเป็นอาการที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นอาการนำของโรคเลือดออกผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เช่น โรคฮีโมฟิเลียและโรควอน วิลลิแบรนด์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีเนื่องจากอาการเลือดออกดังกล่าวก็สามารถพบได้ในคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคเลือดออกผิดปกติแต่กำเนิด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทราบว่าอาการเลือดออกมากแค่ไหนที่สมควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและประเมินเพิ่มเติม

อาการเลือดออกที่ควรสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคเลือดออกผิดปกติ
หากมีอาการเลือดออกในลักษณะต่อไปนี้ให้สงสัยว่าอาจเกิดจากโรคเลือดออกผิดปกติแต่กำเนิด สมควรที่จะไปพบแพทย์

  1. รอยช้ำหรือเลือดคั่ง (ห้อเลือด) ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอาการรุนแรงทั้งที่ได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้ารอยช้ำหรือเลือดคั่งมีขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 1 บาท รวมถึงจุดเลือดออกสีแดงตามผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายการจุดด้วยปากกาแดงที่ผิวหนัง
  2. เลือดออกจากแผลหรือเลือดออกตามไรฟัน ที่ออกนานกว่า 5 นาที แม้จะทำการกดแผลเพื่อห้ามเลือดแล้ว
  3. เลือดกำเดาไหลที่ออกนานกว่า 10 นาที หรือมีเลือดกำเดาไหลมากกว่า 5 ครั้งต่อปี โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
  4. ประจำเดือนที่ออกนานกว่า 7 วัน หรือมีประจำเดือนมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยถี่กว่าทุก 2 ชั่วโมง หรือพบลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 10 บาทในผ้าอนามัย
  5. มีเลือดออกซ้ำหลังการถอนฟัน หรือผ่าตัดที่เกิดภายใน 7 วัน
  6. มีอาการเลือดออกที่ผิดปกติ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ อาการอาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำลักษณะคล้ายยางมะตอยโดยที่ไม่ได้กินยาธาตุเหล็ก ปัสสาวะสีแดง อาการข้อบวมและเจ็บโดยที่ไม่มีไข้ อาการบวมที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่งไม่ว่าจะมีรอยช้ำบนตำแหน่งที่บวมหรือไม่ และอาการไอเป็นเลือด ส่วนในเด็ก หากพบอาการเลือดออกจากตอสายสะดือที่หลุดหรือมีเลือดออกจากแผลเจาะเลือดก่อนออกจากโรงพยาบาลในเด็กทารกแรกเกิด หรือพบอาการเลือดออกเป็นปื้นแดงในตาขาวโดยไม่มีประวัติอุบัติเหตุ
  7. มีประวัติคนในครอบครัวคนอื่น ๆ ที่มีอาการเลือดออก ที่เข้าได้กับเกณฑ์ข้างต้น หรือมีคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเลือดออกผิดปกติ
  8. มีประวัติเลือดออกจนเกิดภาวะซีด จนต้องได้รับการรักษาด้วยยาธาตุเหล็กหรือได้รับเลือดแดง

อย่างไรก็ดีแม้การมีอาการเลือดออกดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่อาจเป็นโรคเลือดออกผิดปกติแต่กำเนิด แต่ยังมีสาเหตุอีกหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากผิดปกติได้เช่นกัน อาทิ

  • การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคตับและโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
  • การกินยาหรือสมุนไพรบางอย่าง
  • การมีโรคที่บางตำแหน่งของร่างกาย เช่น คนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ก็อาจมีเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ ได้จากการอักเสบของ กลุ่มหลอดเลือดฝอยในโพรงจมูก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรแจ้งประวัติดังกล่าวให้แพทย์ทราบ เพื่อให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องและวางแผนการตรวจและประเมินเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา : สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
https://bit.ly/3KbT4O2


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท