Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกขาดธาตุเหล็ก


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

22-02-2023 14:28

ภาวะการขาดธาตุเหล็ก คือ ภาวะที่ธาตุเหล็กในร่างกายไม่เพียงพอในการทำงานของกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ การพัฒนาของสมอง การสร้างเม็ดเลือดแดง การทำงานของเยื่อบุทางเดินอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ภาพประกอบเคส

ภาวะการขาดธาตุเหล็ก คือ ภาวะที่ธาตุเหล็กในร่างกายไม่เพียงพอในการทำงานของกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ การพัฒนาของสมอง การสร้างเม็ดเลือดแดง การทำงานของเยื่อบุทางเดินอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การขาดธาตุเหล็กจะส่งผลอย่างไรแก่ลูกได้บ้าง

ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่กลุ่มที่ขาดในระดับรุนแรงพบว่ามีอาการซีด เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก อ่อนเพลีย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว ความอยากอาหารลดลง บางคนมีพฤติกรรมการรับประทานที่ผิดปกติ เช่น รับประทานน้ำแข็งมาก รับประทานกระดาษ แป้ง ข้าวดิบ มีลิ้นเลี่ยน ลักษณะเล็บผิดปกติ นอกจากนี้ ภาวะขาดธาตุเหล็กยังส่งผลต่อการพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย

ความเสี่ยงในการเกิดภาวะการขาดธาตุเหล็กในเด็กและวัยรุ่น
- ความเสี่ยงในช่วงปริกำเนิดของการตั้งครรภ์ของมารดาจะส่งผลให้ทารกมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายลดลง ได้แก่ มารดามีภาวะขาดธาตุเหล็ก ภาวะการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์แฝดที่มีภาวะเลือดวิ่งถ่ายเทระหว่างทารกในครรภ์
- ช่วงภาวะที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กที่มากขึ้น ได้แก่ วัยทารก เด็กในวัยเรียน และช่วงวัยรุ่น
- ภาวะการขาดสารอาหาร ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ
- โรคบางอย่างส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กของลำไส้ เช่น มีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารออก หรือลำไส้เล็กส่วนต้นออก ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบเรื้อรัง โรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมในการดูดซึมธาตุเหล็ก
- การมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ที่มีประจำเดือนมามาก

การป้องกันภาวการณ์ขาดธาตุเหล็ก สามารถป้องกันได้โดย
- เสริมธาตุเหล็กในเด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือที่มีน้ำหนักตัวน้อยที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว การเสริมยาธาตุเหล็กในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ตั้งแต่อายุ 1 เดือน จนได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ ส่วนในเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี พิจารณาเสริมธาตุเหล็กเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับนมที่มีธาตุเหล็กเสริมหรือได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย
- เพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กในเด็กกลุ่มเสี่ยง
- เสริมอาหารที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น วิตามิน ซี
- ป้องกันและรักษาการติดเชื้อพยาธิ

คำแนะนำในเรื่องของโภชนาการของธาตุเหล็ก
แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางโภชนาการ ได้แก่ การดื่มนมวัวที่มากเกิน 20-24 ออนซ์ต่อวัน

อาหารชนิดไหนบ้างที่มีธาตุเหล็กสูง
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์เนื้อแดง ตับ เครื่องในสัตว์ เลือด ไข่แดง ผักใบเขียว เช่น ผักขม บรอกโคลี่ ตำลึง ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ

การตรวจคัดกรองภาวะการขาดธาตุเหล็กในเด็ก
แนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะการขาดธาตุเหล็กในเด็กช่างอายุ 6 เดือน – 2 ปี ที่คลินิกเด็กดี โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าของเม็ดเลือดแดงจาก CBC ที่อายุ 9 – 12 เดือน หากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดธาตุเหล็ก อาจมีการตรวจซ้ำอีกครั้งที่อายุ 15 – 18 เดือน

ที่มา : สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
https://bit.ly/3lHb7kM


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท