Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

หมดรักแล้ว แต่ต้องทนอยู่เพื่อลูกดีจริงหรือ


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: สุขภาพใจ

22-02-2023 13:47

การตัดสินใจแยกกันอยู่ หรือ ทนอยู่เพื่อลูก จะส่งต่อสภาพจิตใจของลูกหรือไม่

ภาพประกอบเคส

ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักก่อนจะก่อตัวสร้างเป็นครอบครัวนั้น มีจุดเริ่มต้นที่สวยงามเสมอ อาจจะแบ่งเป็นระยะให้เห็นชัดๆ ก็คือ

  • ระยะเริ่มต้น เป็นแห่งความหวาน หัวใจพองโตเหมือนช่วงฮันนีมูล ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่คู่รักพยายามปรับตัว พยามเอาใจ ทำทุกอย่างให้คู่รักของเราถูกใจและพึงพอใจมากที่สุด
  • ระยะที่ 2 เมื่อความคาดหวังไม่ตรงใจ เมื่อมีความรักย่อมมีความหวัง แต่จะทำอย่างไรเมื่อคนรักของเราไม่เป็นแบบที่เราหวังไว้ ทำอะไรก็ไม่ตรงใจเราเอาเสียเลย
  • ระยะที่ 3 เริ่มเหนื่อยล้ากับความรัก เมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่หวัง คนรักเริ่มไม่เป็นแบบที่เราต้องการ จนเริ่มกลายเป็นความเหนื่อยล้ากับความรัก และหมดรักในที่สุด

และสิ่งที่เป็นสัญญาณของการหมดรัก สังเกตได้จากอารมณ์หรือความคิดที่มีต่อคู่รักเริ่มเปลี่ยนไปในทางลบ เช่น อารมณ์ความรักแสนหวานเหมือนระยะแรกที่เริ่มรักแทบจะไม่มี กลายเป็นความรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจ ความรู้สึกด้านลบมีมากกว่าด้านบวก กับข้าวที่อร่อยกลับไม่อร่อย ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้สึกขวางหูขวางตา ให้สันนิษฐานได้ว่านี่คือ อาการของคนหมดรัก

ในกรณีครอบครัวที่อารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นทางลบไปหมดแล้ว แต่เมื่อมองกลับไปเห็นหน้าลูก แม้จะอยากเลิกแค่ไหน ก็ต้องตัดสินใจทนอยู่เพื่อลูก เพราะอยากให้ลูกมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีทั้งพ่อและแม่ ไม่อยากให้ลูกมีปัญหา และพยายามใช้ความอดทนทั้งหมดที่มี แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เราอดทนมันส่งผลต่อชีวิตคู่อย่างไร

การอดทนอยู่เพื่อลูกอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราอ้างถึง แต่ลึกๆ แล้วมีเหตุผลอื่นอีกเป็นร้อยพันให้เราเลือกที่จะยังพยายามอดทนอยู่เป็นครอบครัวซึ่งไม่ใช่การอยู่เพื่อลูกทั้งหมด ตัวอย่างเช่น

  • ในคู่ที่มีความสัมพันธ์แย่ลง และพยามอยู่เพื่อปรับตัว หรือปรับแก้ไขปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ลักษณะนี้ก็อาจจะกลับมาเป็นครอบครัว เป็นคู่รักที่มีความสุขเช่นเดิมได้
  • ในคู่ที่ไม่สามารถปรับแก้ไขปัญหาได้ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม การสื่อสาร การปรับตัว ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นครอบครัวได้ อาจเนื่องมาจากความผิดหวัง ท้อแท้ สิ้นหวัง กับความสัมพันธ์ครั้งนี้แล้ว

การตัดสินใจแยกกันอยู่ หรือ ทนอยู่เพื่อลูก จะส่งต่อสภาพจิตใจของลูกหรือไม่
ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องทนอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้ง ยังรู้สึกว่าต้องการพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น แต่ลูกไม่สามารถหนีไปไหนได้ เพราะบ้านคือสิ่งที่พ่อแม่สร้างไว้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกก่อนจะเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นลูกจึงรู้สึกว่าบ้านคือที่ๆ มั่นคงทางอารมณ์และปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นเด็กที่ต้องอยู่กับความขัดแย้งในทุกวันจึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีมากๆ อาจส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ปรับตัวได้ยาก มีปัญหาในเรื่องอารมณ์ หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เก็บกดได้

ดังนั้นการที่พ่อแม่มีเหตุผลว่า “ฉันจะอดทนเพื่อลูก” ในทางกลับกันนั่นอาจจะเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา

ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าใจเรื่องที่พ่อแม่จะบอก?
ตามพัฒนาการเด็กที่มีอายุ 4-5 ปี ขึ้นไป จะเริ่มมีเหตุผล เขาอาจไม่เข้าใจทุกเรื่องว่า พ่อกับแม่ทะเลาะกันเรื่องอะไร หรือต้องแยกกันเรื่องอะไร แต่เขาจะพอเข้าใจได้ว่าสิ่งที่พ่อ แม่ กำลังจะทำให้เขาไม่ต้องอยู่ในความเศร้า หรือความมั่นคงทางอารมณ์ รวมไปถึงการอยู่ในบ้านที่แต่บรรยากาศความขัดแย้ง กดดัน เด็กจะพอเข้าใจได้ และเมื่อลูกโตมากขึ้นเขาก็จะเข้าใจได้มากขึ้นตามพัฒนาการ

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกับลูก ถึงการตัดสินใจของพ่อและแม่ ว่าการที่พ่อแม่จะทนอยู่นั้นจะส่งผลดีต่อลูกหรือไม่ ลูกมีความคิดเห็นอย่างไร พูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนี้พ่อ แม่ ยังอาจจะได้ข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาจากลูกได้อีกด้วย

ที่มา : thaipbspodcast
https://www.thaipbspodcast.com/podcast/momandmouth/divorce-or-stay-with-no-more-love


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท