5 สุข 5 มอบ เติมความอิ่มใจผู้สูงวัย
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
22-02-2023 12:50
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจได้ง่าย ที่พบบ่อยได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล สมองเสื่อม ซึมเศร้า ซึ่งความสุขในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุหลักๆ มาจาก 2 ทาง คือ จากตนเอง และ จากครอบครัว เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุด้วยความรัก ความผูกพัน ความอ่อนโยน ด้วยความสุขใจอย่างแท้จริง
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจได้ง่าย ที่พบบ่อยได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล สมองเสื่อม ซึมเศร้า ซึ่งความสุขในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุหลักๆ มาจาก 2 ทาง คือ จากตนเอง และ จากครอบครัว เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุด้วยความรัก ความผูกพัน ความอ่อนโยน ด้วยความสุขใจอย่างแท้จริง ตามคำแนะนำดังนี้
ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงอายุปฏิบัติด้วยสูตรสร้างความสุขด้วยตัวเอง 5 สุข ดังนี้
1. สุขกายสบายใจ โดยเข้าใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามวัย รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เมื่อไม่สบายต้องบอกลูกหลานตั้งแต่เนิ่นๆ
2. สุขสนุก คือสร้างความสนุกให้ชีวิต ไม่เก็บตัว เช่น เข้าสังคมสังสรรค์กับเพื่อนๆ ทำงานอดิเรก หรือมีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี
3. สุขสง่า ยึดมั่นในความดี ให้คำปรึกษาช่วยเหลือคนรุ่นหลัง เป็นคลังสมองของครอบครัว ชุมชน สังคม ใช้เงินออมอย่างรอบคอบ
4. สุขสงบ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถือ อารมณ์หนักแน่น มั่นคง
5. สุขสว่าง คือใช้ชีวิตอย่างมีสติ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
ข้อแนะนำสำหรับครอบครัว ลูกหลาน ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยให้มีความสุข ด้วยสูตร 5 มอบ ได้แก่
1. มอบความรัก ห่วงใยให้ความเคารพ ยกย่องให้เกียรติ ทั้งการพูดและการกระทำ เช่น กล่าวทักทายก่อน เชิญทานอาหารก่อน
2. มอบความเข้าใจ ยอมรับการการเปลี่ยนแปลงเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ เช่นการหลงลืม พูดซ้ำๆเรื่องเดิม
3. มอบสัมผัสด้วยการกอด จับมือ บีบนวดถ่ายทอดความรักที่มีต่อผู้สูงอายุ
4. มอบเวลา เช่นพาไปวัด ไปเที่ยว ไปทานอาหาร หรือโทรพูดคุยถามความเป็นอยู่
5. มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมหรือทำงานที่ท่านสามารถทำได้ หรือให้ท่านเล่าประสบการณ์ที่ท่านภาคภูมิใจและลูกหลานนำมาปรับใช้ในชีวิต เป็นต้น
สิ่งสำคัญคือ ครอบครัว ลูกหลาน ควรช่วยกันสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ โดยสามารถดูจากชีวิตประจำวันที่ผิดไปจากเดิม 5 เรื่อง ดังนี้
1. การกินผิดปกติ อาจกินมากขึ้นหรือน้อยกว่าเดิม เบื่ออาหาร ซูบผอมทั้งๆไม่มีปัญหาทางร่างกาย
2. การนอน อาจนอนหลับมากกว่าปกติ บางคนอาจนอนไม่หลับ ตกใจตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ บางคนอาจฝันร้ายติดต่อกันบ่อยๆ
3. อารมณ์ผิดปกติ เช่นหงุดหงิดบ่อยขึ้น เศร้าซึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม
4. มีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เคยร่าเริงแจ่มใสก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม ไม่พูดไม่จา บางคนก็หันไปพึ่งเหล้า บุหรี่ บางคนที่พูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก
5. มีอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น บ่นปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระดูก วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น เป็นอาการที่เป็นผลมาจากจิตใจที่มีความเครียด วิตกกังวลซึ่งพบได้บ่อยแต่ประชาชนมักไม่รู้ตัว และจะไปพบแพทย์บ่อยๆ แต่หาสาเหตุความผิดปกติไม่เจอ กินยาแล้วไม่ดีขึ้น ไม่หาย
หากพบผู้สูงอายุมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพูดคุย ซึ่งลูกหลานจะช่วยได้ดี หากยังไม่ดีขึ้นขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://www.thaihealth.or.th/?p=236571
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์