Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคซึมเศร้าภาวะที่คนใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

11-02-2023 16:04

“โรคซึมเศร้า” สาเหตุการจบชีวิตของใครหลายคนที่แม้แต่ผู้ป่วยเองก็อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการเมื่อเจอกับปัญหาชีวิตที่ไม่สามารถผ่านไปได้ เช่น เรื่องความรัก หนี้สิน หรือการทำงาน ยิ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองได้ในทันที ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของคนมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ออกมาให้ได้เห็นเช่นกัน

ภาพประกอบเคส

“โรคซึมเศร้า” สาเหตุการจบชีวิตของใครหลายคนที่แม้แต่ผู้ป่วยเองก็อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการเมื่อเจอกับปัญหาชีวิตที่ไม่สามารถผ่านไปได้ เช่น เรื่องความรัก หนี้สิน หรือการทำงาน ยิ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองได้ในทันที ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของคนมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ออกมาให้ได้เห็นเช่นกัน

แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และเราจะสังเกตอาการคนใกล้ตัวได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นกับคนที่เรารัก บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับภาวะซึมเศร้า และวิธีสังเกตอาการเพื่อให้ป้องกันการสูญเสียได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคนี้เป็นแล้ว สามารถรักษาให้หายขาดได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
1.เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความระดับฮอร์โมนมีความผันผวน ปัจจัยนี้ เป็นความเข้าใจผิดของใครหลายคน ที่เวลาคนในครอบครัวมาขอคำปรึกษา หรือบอกว่าตัวเองเริ่มมีอาการซึมเศร้า แล้วแนะนำให้ไปเข้าวัด สวดมนต์ สงบจิตใจ ซึ่งในความเป็นจริง “โรคซึมเศร้า” ที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ไม่ใช่แค่ภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง แต่เป็นเรื่องของระบบการทำงานในร่างกายที่มีความผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
2.เกิดจากสภาวะอารมณ์ ปัจจัยกระตุ้นนี้มีผลมาจากความเครียดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น เรื่องในครอบครัว ผู้ป่วยพบเจอกับเหตุการณ์ที่เกิดความตึงเครียดทางอารมณ์ หรือพบเจอกับสถานการณ์ที่สะเทือนใจ หรืออาจะเป็นปัญหาในชีวิต เช่น หนี้สิน ตกงาน รู้สึกเสียคุณค่าในตัวเองเมื่อต้องเกษียณ หรือทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

วิธีสังเกตอาการซึมเศร้า
1.วิธีแรกที่แนะนำให้สังเกต คือ ผู้ป่วยจะมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เริ่มคิดไปในทางลบ (Negative Thinking) ตลอดเวลา รู้สึกสิ้นหวังในการใช้ชีวิต รู้สึกผิดโทษตัวเอง บอกว่าตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย เริ่มมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง พูดเรื่องความตาย และมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
2.ผู้ป่วยเริ่มไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่สนุก แม้จะเป็นงานอดิเรกที่เคยชอบทำมากก็ตาม ในระยะนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ประสิทธิภาพในการทำงานช้าลง การตัดสินใจแย่ลง เพราะไม่มีสมาธิ จนผลงานที่ทำเกิดความผิดพลาด หรือต่ำกว่ามาตรฐานที่ผู้ป่วยเคยทำได้มาก่อน
3.ผู้ป่วยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลตลอดเวลา หงุดหงิดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย
4.ผู้ป่วยเริ่มนอนไม่หลับ ตื่นเร็วกว่าปกติ หรือบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะหลับมากเกินไป เริ่มเบื่ออาหาร จนน้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรืออาจจะรับประทานอาหารมาก จนทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีอาการทางกายที่เป็นสัญญาณเตือนร่วม เช่น ปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ หากคนรอบข้างใส่ใจ และสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากสังเกตแล้วพบว่ามีอาการตรงกับที่กล่าวมา คนที่ใกล้ชิดควรเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยด้วยการอยู่เคียงข้าง และปลอบโยนด้วยคำพูดที่เน้นการชื่นชม ให้กำลังใจ

คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า มีดังนี้
1.เป็นผู้ฟังที่ดีสำหรับผู้ป่วย ไม่ตัดสินความรู้สึกของผู้ป่วย โดยใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน เพราะอารมณ์ของผู้ป่วยซึมเศร้า มีความอ่อนไหวมากกว่าคนทั่วไปมาก การมีผู้ฟังที่ดี จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจตัวเองได้ และมีกำลังใจในการใช้ชีวิต
2.รู้จักการชวนคุยเพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ การคุยในลักษณะนี้ ผู้ที่ชวนคุยต้องคุยโดยไม่กดดันผู้ป่วย ให้ตอบคำถาม หรือคาดหวังการโต้ตอบเหมือนการคุยกับคนทั่วไป เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน แทนที่จะได้รับกำลังใจ ควรคุยด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย
3.เมื่อผู้ป่วยพูดเรื่องความตาย ความคิดที่อยากจะทำร้ายตัวเอง ให้รับฟังในฐานะผู้ฟังที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบายความตึงเครียดภายในจิตใจของตัวเอง

คำพูดที่แนะนำให้ใช้ในการสนทนา ได้แก่ ทำได้ดีมากแล้วนะ, มั่นใจเข้าไว้, วันนี้ทำดีแล้ว, ทำเต็มที่ที่สุดแล้วนะ

สำหรับคำพูดที่ไม่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ พยายามเข้านะ, สู้ๆ, ต้องทำได้, อย่าคิดมาก, เรื่องแค่นี้เอง หรือ เรื่องแค่นี้ทำไมต้องร้องไห้

และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่คนใกล้ชิดควรทราบ คือ การรักษาโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของเวลา และความพร้อมของผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยา และคำแนะนำจากนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีทางเลือกสำหรับผู้ป่วย และคนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ดังนี้
1.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
2.สมาคมสะมาริตันส์ประเทศไทย โทร. 02-113-6789 ระหว่างเวลา 12.00 – 22.00 น. แบบไม่มีค่าใช้จ่าย
3.ใช้บริการขอคำปรึกษาผ่านแอป OOCA ซึ่งมีการคิดค่าบริการ ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกนี้ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมที่ตรงกับความพร้อมของตัวท่านเอง


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท