Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มพร้อมยา


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

11-02-2023 14:54

เมื่อเราไม่สบาย หากมีอาการเล็กน้อย ก็อาจจะซื้อยามาทานเอง หรือไปพบแพทย์ แล้วได้รับยากลับมาทานที่บ้าน เราต้องคำนึงด้วยว่า ยาที่เรากินนั้นห้ามกินกับเครื่องดื่มอะไร เพราะเครื่องดื่มบางอย่างอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดลงหรืออาจจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้

ภาพประกอบเคส

เมื่อเราไม่สบาย หากมีอาการเล็กน้อย ก็อาจจะซื้อยามาทานเอง หรือไปพบแพทย์ แล้วได้รับยากลับมาทานที่บ้าน เราต้องคำนึงด้วยว่า ยาที่เรากินนั้นห้ามกินกับเครื่องดื่มอะไร เพราะเครื่องดื่มบางอย่างอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดลงหรืออาจจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้

เครื่องดื่มชนิดใดที่ไม่ควรดื่มพร้อมยา

  1. นม: มีโปรตีนชนิดที่ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมยา ทำให้ตัวยาไม่สามารถออกฤทธิ์รักษาได้ นอกจากนี้แคลเซียมในนมก็ยังมีผลต่อการดูดซึมของยาอีกด้วย โดยเฉพาะการกินยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ กับนม ที่แคลเซียมจากนมจะเข้าไปจับตัวยาปฏิชีวนะ ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เรากินเข้าไปเพื่อหวังผลในการรักษาอาการอักเสบในส่วนต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ควรได้รับการรักษาด้วยตัวยาได้ เท่ากับการกินยาปฏิชีวนะในครั้งนี้มีผลเป็นโมฆะนั่นเอง
  2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้นคนที่กินยาที่มีกดฤทธิ์ประสาท อย่างยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้โรคซึมเศร้า ก็ต้องระวังให้มาก เพราะหากไปดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับทานยาด้วย จะยิ่งเสริมฤทธิ์กดประสาทให้รู้สึกง่วงซึม และขาดสมาธิมากขึ้น ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นหมดสติและหยุดหายใจได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีพิษต่อตับหากรับประทานร่วมกันกับยา พาราเซตามอล หรือยาที่มีผลต่อตับอาจมีโอกาสทำให้เกิดอาการตับวายอย่างเฉียบพลันได้
  3. น้ำอัดลม: น้ำอัดลมมีทั้งกรดและคาเฟอีน คาเฟอีนในน้ำอัดลมจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงคนที่เป็นโรคกระเพาะ การกินยาลดกรดกับน้ำอัดลมอาจทำให้ตัวยาไม่สามารถลดกรดในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากในกระเพาะอาหารมีกรดจากน้ำอัดลมมาให้ยาจัดการจนหมดฤทธิ์ยาไปซะก่อน ส่งผลให้กระเพาะอาหารไม่ได้รับยาลดกรดไปช่วยเคลือบกระเพาะ หรือหากใครทานยาที่มีผลในการกระตุ้นประสาทอยู่แล้ว การทานยาพร้อมน้ำอัดลมผสมคาเฟอีน จะยิ่งทำให้การดูดซึมและระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ช้าลง
  4. ชา กาแฟ: ใน ชา กาแฟ โดยส่วนมากจะมี คาเฟอีน สารดังกล่าวออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายสดชื่น แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการ กระวนกระวาย ใจสั่น และนอนไม่หลับได้ ยิ่งหากเผลอไปรับประทานคู่กับยาที่มีสารกระตุ้นระบบประสาท เช่น Pesudoephedrine ที่มักผสมอยู่ในยาแก้หวัดด้วย อาจทำให้เกิดอาการเหล่านั้นมากขึ้น แถมนานขึ้น
  5. น้ำผลไม้: โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อย่างน้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่น ๆ ไม่ควรกินคู่กับยาลดกรดเด็ดขาด เนื่องจากคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารที่ต้องกินยาลดกรด จะมีภาวะร่างกายหลั่งกรดเกินปกติอยู่แล้ว ดังนั้นหากดื่มน้ำผลไม้ที่มีกรดเพิ่มไปอีก ตัวยาเคลือบกระเพาะอาหารหรือยาลดกรดอาจต้านทานไม่ไหว หรือออกฤทธิ์ลดกรดได้

ดังนั้นการกินยาที่ดีที่สุด คือการกินยาคู่กับน้ำเปล่า นอกจากไม่มีผลกับยาที่รับประทานแล้วหากดื่มในปริมาณที่เพียงพอยังช่วย ละลายยา เพิ่มการดูดซึมและลดผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับยาด้วย

ที่มา : ศูนย์บริการร่วม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
https://bit.ly/40uUitx


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท