Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เทคนิคชวนเด็ก ๆ หันมาสนใจอาหารเพื่อสุขภาพ


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

11-02-2023 14:25

เด็ก ๆ ไม่ค่อยพิถีพิถันในเรื่องกิน พวกเขาจะเลือกกินตามเพื่อนฝูงหรือไม่ก็ถูกดึงดูดจากโฆษณาอาหารขยะ (junk food) ทางทีวี การจะให้เด็ก ๆ หันมารับประทานอาหารดี ๆ จึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ในขณะที่พ่อแม่ก็มักไม่ค่อยมีเวลา ทำให้ถึงที่สุดแล้วอาหารของเด็ก ๆ จึงวนเวียนอยู่กับอาหารสะดวกซื้ออยู่ดี

ภาพประกอบเคส

เด็ก ๆ ไม่ค่อยพิถีพิถันในเรื่องกิน พวกเขาจะเลือกกินตามเพื่อนฝูงหรือไม่ก็ถูกดึงดูดจากโฆษณาอาหารขยะ (junk food) ทางทีวี การจะให้เด็ก ๆ หันมารับประทานอาหารดี ๆ จึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ในขณะที่พ่อแม่ก็มักไม่ค่อยมีเวลา ทำให้ถึงที่สุดแล้วอาหารของเด็ก ๆ จึงวนเวียนอยู่กับอาหารสะดวกซื้ออยู่ดี

ในความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาพของเด็ก มันจะช่วยให้เด็กคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดี รักษาอารมณ์ให้คงที่ ปรับจิตใจให้เฉียบแหลม และหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ และที่สำคัญอาหารดี ๆ ยังช่วยรักษาความสมดุลด้านจิตใจ โดยช่วยป้องกันสภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภทและสมาธิสั้น หรือแม้แต่ลดโอกาสที่จะฆ่าตัวตาย

ในบทความเรื่อง Healthy Food for Kids ในเว็บไซต์ Help Guide ได้แนะนำการทำให้เด็ก ๆ หันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไว้ดังนี้

  1. เน้นที่อาหารโดยรวมมากกว่าอาหารเฉพาะ คืออาหารที่ใกล้เคียงกับรูปแบบธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  2. ให้ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี หากไม่ต้องการให้ลูกกินอะไร ตัวเองก็อย่ากินแบบนั้น
  3. อำพรางรสชาติของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ใส่ผักผสมในอาหารที่ลูกชอบกินอย่างแนบเนียน
  4. ทำอาหารที่บ้านมากขึ้น เพราะอาหารที่ร้านและอาหารแบบสั่งกลับบ้านมีน้ำตาลและไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก
  5. ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการซื้อวัตถุดิบ และเตรียมอาหาร
  6. จัดของว่างเพื่อสุขภาพให้พร้อมเสมอ
  7. จำกัดปริมาณอาหาร การกินให้หมดจาน หรือ clean the plate คือกินจนจานสะอาด ซึ่งอาจทำให้เด็กกินมากเกินไป รวมถึงการให้อาหารเป็นรางวัลก็ไม่เหมาะเช่นกัน

การสร้างลักษณะนิสัยการกินที่ดี ไม่ใช่แค่การจัดอาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น การทำให้เวลาอาหารเป็นมากกว่าการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพก็มีส่วนเช่นกัน นั่นก็คือการมีมื้ออาหารที่ทำกันเป็นประจำให้กับสมาชิกในครอบครัวจะช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่น เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก และมื้ออาหารยังเป็นโอกาสที่เราจะสอนเด็ก ๆ ให้ดูเป็นตัวอย่างเรื่องนิสัยการกินที่ดี ที่สำคัญก็คือ ผู้ใหญ่จะมีโอกาสได้จับตาว่าเด็ก ๆ มีนิสัยการกินเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ อย่ามองข้ามปัญหาเรื่องน้ำหนัก เพราะเด็กที่มีน้ำหนักเกินอย่างมากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหากระดูกและข้อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเอง และปัญหาสุขภาพในระยะยาวในวัยผู้ใหญ่ อย่ามองข้ามการส่งเสริมการออกกำลังกาย ด้วยการเล่นออกกำลังกับเด็ก ๆ เพราะ “การออกกำลังกายเป็นประจำยังสามารถช่วยกระตุ้นให้ลูก ๆ ของคุณเลือกอาหารเพื่อสุขภาพได้อีกด้วย”

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3K2DBjd


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท