Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

จุดเริ่มต้นของการเป็นพ่อแม่พลังบวก


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: สุขภาพใจ

11-02-2023 14:22

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นมาจากพ่อแม่ เพราะความรัก ความปรารถนาดีที่พ่อแม่มีต่อลูก อยากให้มีความสุขและเป็นที่ยอมรับของสังคม บางครั้งพ่อแม่จึงใช้วิธีลงโทษ ตำหนิ จ้ำจี้จ้ำไชเด็ก แต่ยิ่งดุด่ามากเท่าไหร่ ลูกยิ่งต่อต้าน มองไม่เห็นความหวังดีของเรา นับวันยิ่งห่างเหิน คุยกันน้อยลง

ภาพประกอบเคส

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นมาจากพ่อแม่ เพราะความรัก ความปรารถนาดีที่พ่อแม่มีต่อลูก อยากให้มีความสุขและเป็นที่ยอมรับของสังคม บางครั้งพ่อแม่จึงใช้วิธีลงโทษ ตำหนิ จ้ำจี้จ้ำไชเด็ก แต่ยิ่งดุด่ามากเท่าไหร่ ลูกยิ่งต่อต้าน มองไม่เห็นความหวังดีของเรา นับวันยิ่งห่างเหิน คุยกันน้อยลง

การเลี้ยงลูกด้วย “การสื่อสารเชิงบวก” จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว ลดการต่อต้านของลูกและช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งการสื่อสารของพ่อแม่ทั้งคำพูด น้ำเสียงและท่าทางที่แสดงออกสามารถสร้างบาดแผลในใจ และความไม่มั่นคงทางอารมณ์ หรือสร้างการเรียนรู้ พัฒนาการด้านบุคลิกภาพให้ลูก ขึ้นอยู่ว่าพ่อแม่เลือกจะสื่อสารแบบไหน

แนวทางการเริ่มต้นเป็นพ่อแม่พลังบวก สามารถทำได้โดย

1.เข้าใจตัวเอง จุดเริ่มต้นการสื่อสารพลังบวก : ลดความคาดหวังแล้วมองที่ความสุขของลูกเป็นหลัก

  • พ่อแม่มักคิดว่าสิ่งที่เราคาดหวังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก จนลูกรู้สึกกดดัน ไม่กล้าเปิดใจกับพ่อแม่ ลองเปลี่ยนจากความคาดหวังมามองที่ความสุขของลูกเป็นหลัก แล้วคุณจะรู้ว่าแท้จริงแล้วลูกต้องการอะไร
  • พ่อแม่ต้องเข้าใจโลกภายในของตัวเองก่อน โดยเฉพาะ “อารมณ์” ที่มักพาคำพูดและการกระทำให้แสดงออกมาตรงข้ามกับสิ่งที่อยู่ในใจ ถ้าจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ก็สามารถหยุดคำพูดและการกระทำเชิงลบที่สื่อสารออกไปได้

2.เข้าใจธรรมชาติของลูก : รับฟังมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติที่เปลี่ยนไปตามช่วงวัยของลูก

  • เด็กแต่ละวัยมีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างกัน พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติในการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยของลูก จะช่วยปัดความคิดด้านลบที่มีต่อลูกออกไปจากความสนใจของคุณ ทำให้สื่อสารออกไปในแบบที่ลูกเข้าใจและนึกถึงใจเขามากขึ้น
  • “พูดให้น้อย ฟังให้มาก” การแสดงให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ลูกเปิดใจ พร้อมพูดคุย หรือปรึกษาปัญหา
  • ส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมที่สร้างนิสัยสู่ความสำเร็จ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดย สร้างความผูกพันและไว้ใจให้เกิดขึ้นในใจลูก เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างเสรี สนับสนุนให้เขาทำกิจกรรมที่หลากหลาย และสนับสนุนให้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ

3. เข้าใจเทคนิคการสื่อสารเชิงบวก : ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและลดการต่อต้านจากลูก โดยมีเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกง่ายๆ คือ

  • ชมทันที หรือในระหว่างที่ลูกมีพฤติกรรมเหมาะสม เด็กจะเห็นภาพชัดเจนว่าสิ่งไหนที่พ่อแม่คาดหวังให้เขาทำ
  • สื่อให้รู้ว่าเราเข้าใจ บอกอารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมของลูกที่กำลังเกิดขึ้น โดยใช้คำพูดที่สื่อให้รู้ว่าเราเข้าใจเขา เด็กจะเรียนรู้และสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้
  • ให้ทางเลือกเชิงบวก ให้ทางเลือก 2 ทางที่พ่อแม่เห็นว่านำไปสู่เป้าหมายที่ทำให้พฤติกรรมของลูกดีขึ้น
  • ใช้ภาษาฉัน (I-Message) เป็นการส่งความรู้สึกและความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อพฤติกรรมของลูกให้เขารู้ โดยเลี่ยงการตำหนิ
  • เป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่คือต้นแบบของลูก ต้องระวังการใช้คำพูด น้ำเสียง หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีให้ลูกเห็น
  • ถามความคิด สะท้อนความรู้สึก เทคนิคแสดงความสนใจ พยายามเข้าใจจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดี รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน
  • เวลาคุณภาพครอบครัว = เวลาคุณภาพของลูก

ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น มีเวลาคุณภาพให้ลูกจะช่วยให้พ่อแม่รู้จักลูกมากขึ้น บรรยากาศแห่งความสุขไม่จำเป็นว่าต้องทำกิจกรรม หรือทำมากแค่ไหน แค่มีอย่างสม่ำเสมอจะนำมาซึ่งสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว

พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกด้วยเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกอาจจะไม่ได้ทำให้ลูกเลิกต่อต้าน หรือเลิกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทันที แต่จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องรีบร้อน ลูกจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3HV0vGw


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท