ลูกพูดไม่ชัด ปัญหาที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
11-02-2023 14:05
ปัญหาลูกพูดไม่ชัดเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อเด็กได้ในระยะยาว รวมไปถึงการใช้ชีวิตในสังคม
ปัญหาลูกพูดไม่ชัดเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อเด็กได้ในระยะยาว รวมไปถึงการใช้ชีวิตในสังคม
โดยปกติแล้วเด็กจะเริ่มพูดได้เป็นคำที่มีความหมายในช่วงอายุ 1 ปี เช่น แม่ หม่ำ ไป มา เป็นต้น และจะเริ่มพูดได้เป็นประโยคในช่วงอายุ 2 ปี พอเริ่มเข้าสู่อายุ 3-4 ปี ลิ้นจะทำงานได้ดีขึ้น เด็กก็จะเริ่มออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ได้ โดยเด็กจะเริ่มออกเสียงชัดเจนในพยัญชนะต่างๆ ตามช่วงวัย ได้แก่
- ช่วงอายุ 2.1-2.6 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดคือ ม, น, ห, ย, ค, อ
- ช่วงอายุ 2.7-3 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดจะเพิ่มเสียง ว, บ, ก, ป เข้าไป
- ช่วงอายุ 3.1-3.6 ปี เพิ่มเสียง ท, ต, ล, จ, ผ
- ช่วงอายุ 3.7-4 ปี เพิ่มเสียง ง, ค
- ช่วงอายุ 4.1-4.6 ปี เพิ่มเสียง ฟ
- ช่วงอายุ 4.7-5 ปี เพิ่มเสียง ช
- ช่วงอายุ 5.1-5.6 เพิ่มเสียง ส
- ช่วงอายุ 7 ปีขึ้นไป เพิ่มเสียง ร
วิธีสังเกตว่าลูกมีปัญหาเรื่องพูดไม่ชัดหรือไม่นั้น ให้สังเกตตามอายุดังกล่าวว่าเด็กมีการออกเสียงพยัญชนะได้ตามนี้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อมูลนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะพูดไม่ชัด หรืออาจสังเกตได้จากการเปรียบเทียบในเด็กวัยเดียวกัน หรือเวลาที่เด็กสื่อสารกับพ่อแม่ พ่อแม่เข้าใจความหมายที่เขาสื่อหรือไม่ เป็นต้น
สาเหตุของการพูดไม่ชัด แบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่
- โครงสร้างปาก ลิ้น ฟัน ที่ผิดปกติ เช่น ถ้าลิ้นไม่กระดก มีเอ็นยึดใต้ลิ้น เมื่อพูดเสียงที่ต้องกระดกลิ้นจะทำให้มีปัญหา เช่น การออกเสียง ร.เรือ หรือโครงสร้างเพดานอ่อนผิดปกติ ทำให้เด็กพูดเสียงบู้บี้ อู้อี้
- การพูดไม่ชัดด้วยตัวเอง ทั้งที่โครงสร้างภายในปากปกติทุกอย่าง อาจเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น เวลาที่เด็กพูดไม่ชัดแล้วพ่อแม่หัวเราะชอบใจ ชมว่าน่ารัก ก็จะทำให้เด็กเข้าใจว่าคำเหล่านั้นเป็นคำที่ถูก จึงพูดไม่ชัด
ปัญหาพูดไม่ชัดที่ส่งผลต่อตัวเด็ก
การที่เด็กพูดกับเพื่อนแล้วเพื่อนไม่เข้าใจ หรือมีการถามย้ำบ่อยๆ เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กพูด ก็จะทำให้เด็กรู้สึกอาย สูญเสียความมั่นใจ และไม่อยากพูด มากกว่านั้นเด็กอาจจะเก็บตัว เข้าสังคมได้น้อยลง หรือมีปัญหาในเรื่องของการอ่านเขียน เช่น หากเด็กพูดคำว่าต้นไม้เป็น “ต้มไม้” เวลาเด็กเขียนก็จะเขียนคำที่เด็กพูดนั่นเอง
วิธีการรักษา
เริ่มต้นจากการประเมินโครงสร้างภายในปากของเด็กก่อนว่าปกติหรือไม่ และตรวจการได้ยินของเด็ก จากนั้นจะทำการประเมินทีละเสียงและหาว่าเสียงไหนที่เด็กออกเสียงไม่ชัด เมื่อประเมินได้แล้วจะทำการฝึกทีละเสียง และถ้าหากผู้ปกครองมีการนำกลับไปฝึกที่บ้านด้วยก็จะทำให้เด็กพูดชัดได้เร็วขึ้น จากงานวิจัยพบว่าในหนึ่งเสียงจะใช้การฝึกฝนประมาณ 3 เดือนในการพูดให้ชัด
ที่มา : ramachannel https://youtu.be/ISZVoIzGtHA