Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เตรียมตัวเป็น “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

11-02-2023 13:29

ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เรียกว่า “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นรูปแบบครอบครัวร่วมสมัยที่พบเจอได้ทั่วไป ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมาจากหลายสาเหตุ เช่น การหย่าร้าง แยกทาง ทอดทิ้งกันไปโดยไม่บอกกล่าว รวมไปถึงการลาลับดับสูญของคู่ชีวิต

ภาพประกอบเคส

ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เรียกว่า “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นรูปแบบครอบครัวร่วมสมัยที่พบเจอได้ทั่วไป ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมาจากหลายสาเหตุ เช่น การหย่าร้าง แยกทาง ทอดทิ้งกันไปโดยไม่บอกกล่าว รวมไปถึงการลาลับดับสูญของคู่ชีวิต

“เลี้ยงเดี่ยว” เตรียมตัวได้
ความน่าหวาดหวั่นของการเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องจิตใจ อารมณ์ สังคม ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ การเลี้ยงดูลูก รายรับรายจ่าย การงานอาชีพ และอาจมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกประเด็นจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

1.จิตใจ อารมณ์ สังคม
ความวิตกกังวล สับสน สูญเสีย โศกเศร้า โดดเดี่ยว เครียด เคียดแค้น อาฆาต และอาจคิดว่านี่คือความล้มเหลวในชีวิตคู่ ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ มีทางออกคือยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งยอมรับความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะเรากำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่อเค้าว่าชีวิตน่าจะลำบากทุลักทุเลกว่าเดิม ตามธรรมชาติแล้ว ความรู้สึกต่างๆ พอเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง อย่าพยายามดึงรั้งมันไว้ มองหากิจกรรมหรือพูดคุยกับคนที่จะช่วยเสริมพลังบวกให้เราได้ แต่ถ้ารอนานแล้ว ความรู้สึกเชิงลบยังวนๆ เวียนๆ ไม่ผ่านไปเสียที เบื้องต้น อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วน 1323 ที่กรมสุขภาพจิต จัดไว้บริการประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

2.ชีวิตความเป็นอยู่
จากที่เคยอยู่กันพ่อแม่ลูก ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไป แยกกันอยู่แล้วใครจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าต้องหาที่อยู่ใหม่ ที่ทำงานของเรา โรงเรียนของลูก จะเดินทางกันอย่างไร ความท้าทายในชีวิตของแต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันไป

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดไม่ออกแน่ เครียดมาก อย่าเก็บตัวอยู่คนเดียว อย่าซ่อนตัวเองจากโอกาส เพราะอาจมีคนที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่หน่วยงานมืออาชีพ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีทางออกที่ตรงกับโจทย์ของเรา

3.การเงินการงาน
ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีคนหารค่าใช้จ่าย แถมรายได้จากคูณสอง ตอนนี้ก็จะเหลือแค่ขาเดียว สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือการวางแผนรายรับรายจ่าย พอไหวหรือยังขาด จำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม หรือเติมทักษะการทำงานหรือเปล่า ประเมินงานที่ทำดูแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น เดิมมีคนไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าตอนนี้ต้องไปรับส่งเองจะทำอย่างไร พูดคุยกับหัวหน้างานได้ไหม นอกจากนี้ แม้จะแยกย้ายไม่เป็นสามีภรรยากันแล้ว แต่ความรับผิดชอบเรื่องลูกยังอยู่ ฝ่ายที่จะแยกตัวไปโดยไม่เอาลูกไปด้วยจะสมทบค่าใช้จ่ายแค่ไหน อย่างไร ตรงนี้ต้องเจรจาหาข้อตกลงกัน และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย

4.กฎหมาย ใช้ให้เป็น
การเลิกราแยกทาง มีความแตกต่างระหว่างคู่ที่จดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งทั้งสองแบบทั้งสองควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การแยกกันอยู่ชั่วคราว การจดทะเบียนหย่า การฟ้องหย่า การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิการดูแลหรือการติดต่อลูก ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องราวมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขึ้นกับเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว มีหลายหน่วยงานที่บริการคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157

อย่าลังเลที่จะหา “ตัวช่วย” โดยหน่วยงานต่างๆ มีบริการที่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือ เพื่อให้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คลี่คลายลงได้

ที่มา : เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://bit.ly/3HOxbS1


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท