10 เทคนิค เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข สไตล์พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
11-02-2023 12:44
“เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข แบบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวทำได้จริงหรือ?” อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ เมื่อชีวิตรักต้องพังทลายลง ทิ้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดูแลครอบครัวเพียงลำพัง

“เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข แบบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวทำได้จริงหรือ?” อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ เมื่อชีวิตรักต้องพังทลายลง ทิ้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดูแลครอบครัวเพียงลำพัง แน่นอนว่า นอกจากความทุกข์ ความเศร้าโศก เสียใจ ความหวาดวิตก และความกังวลทั้งหลาย เหมือนจะพร้อมใจกันถาโถมลงมาทับพ่อและแม่ ที่ตกอยู่ในสภานะ “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว” แต่เชื่อเถอะว่า คุณคือคนสำคัญที่ลูกต้องการ และคุณเท่านั้นที่จะมอบความรัก ความอบอุ่นให้กับลูกน้อย ได้ดียิ่งกว่าใครทั้งหมด ดังนั้นจงรวบรวมกำลังใจทั้งหมด ส่งเป็นพลังบวก เพื่อผลักดันให้ตัวคุณก้าวไปสู่จุดหมายใหม่ นั่นคือการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เก่ง ดี มีความสุข เช่นเดียวกับที่ครอบครัวอื่น ๆ ทำได้…และคุณเองก็จะทำได้ด้วยเช่นกัน!
10 เทคนิคการ เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข
ทุกครอบครัวสามารถนำมาปฏิบัติร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเลี้ยงดู เพราะไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีความสมบูรณ์พร้อม พ่อ และแม่ทุก ๆ คนก็ล้วนต้องการเห็นลูกของตนเองเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเทคนิคในการเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี และมีความสุขนั้น สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ คือ
- เลี้ยงลูกแบบเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ ค้นหาความสามารถของตนเอง ตามความสนใจ และความถนัด โดยคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นเพียงผู้สนับสนุน ให้คำแนะนำ และให้โอกาสเขาได้ทำตามความต้องการ
- ให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่น ให้เขาได้เล่นสนุกตามวัยของตนเอง ยิ่งถ้าคุณพ่อ หรือคุณแม่ เป็นส่วนหนึ่งในการเล่นของลูกได้ ก็จะยิ่งช่วยให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกเหมือนพ่อหรือแม่ คือส่วนสำคัญในแต่ละก้าวการเรียนรู้ของเขาเสมอ
- สอนให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น สอนให้เขารู้จักรักผู้อื่น เช่นเดียวกับการรักตนเอง สอนให้รู้จักพูดคำว่า “ขอบคุณ” “ขอโทษ” เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างบุคคล เด็ก ๆ ควรได้รับการปลูกฝังนิสัยการแบ่งปัน และการให้อภัย รู้จักการใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์
- อย่าเลี้ยงลูกราวกับเป็นไข่ทองคำในหินก้อนมหึมา คือการทนุถนอม และตีกรอบป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกทุก ๆ ด้าน จนลูกไม่กล้าที่จะต่อสู้ ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
- เป็นพลังบวกให้ลูกเสมอ แม้จะคอยดูอยู่ห่าง ๆ แต่อย่าปล่อยให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว คอยประคับประคองเมื่อเขาล้ม คอยให้กำลังใจเวลาที่เขารู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง คอยเป็นกำลังใจ และพร้อมจะยืนเคียงข้างลูกเสมอ เมื่อเขาต้องการคุณ
- การให้เวลากับลูก ทั้งในเรื่องการปรับตัว การเรียน การเล่น การทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงหน้าที่เล็ก ๆ น้อยที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ และแม่ได้ เช่น ช่วยล้างจาน ช่วยทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
- ไม่เครียด ไม่กดดัน รวมถึงไม่ตั้งเป้าหมายไว้กับลูกจนสูงเกินเอื้อม ด้วยการบังคับให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการที่พ่อ หรือแม่ คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา แต่ควรสนับสนุน ผลักดัน ส่งเสริมให้ลูกเกิดความมั่นใจ ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ต้องคิด และตัดสินใจ
- โภชนาการอาหารที่ดี และมีคุณค่าเหมาะสมกับวัยของเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง สุขภาพดี และมีความสุขด้วยเช่นกัน
- ห้ามเปรียบเทียบ ไม่ควรเปรียบเทียบลูกคุณกับลูกของคนอื่นโดยเด็ดขาด! เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดเป็นความประหม่า น้อยเนื้อต่ำใจ และกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองในที่สุด ที่สำคัญคือการใช้คำพูด และการแสดงอารมณ์ของคุณพ่อ หรือคุณแม่ ควรใช้คำพูดที่อ่อนโยน สุภาพ เสริมสร้างกำลังใจ แทนที่จะใช้คำพูดที่รุนแรง ก้าวร้าว ด่าทอ เพราะคำพูดต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรม และจิตใจของลูกอย่างมาก เมื่อเขาเติบโตขึ้น
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น พ่อแม่เปรียบเสมือกระจกบานใหญ่ ที่ลูกมองเห็นอยู่ทุกวัน เมื่อเขาเห็นสิ่งใดในกระจก เด็ก ๆ ก็จะเกิดการจดจำ และเริ่มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ซึ่งคงไม่ดีแน่ หากคุณพ่อคุณแม่จะแสดงความโกรธ ความก้าวร้าว ดุดัน เกรี้ยวกราด ให้ลูกได้เห็น เพราะนั่นจะเป็นการปลูกฝังนิสัยเช่นนี้ลงในหัวใจของเด็ก ๆ และเมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ออกมาบ้าง
ที่มา : สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี https://bit.ly/3I124Uw